ยับไส้! รัสเซียถล่มฐานทัพอากาศใกล้เมืองเคียฟ เครื่องบินลำเลียงใหญ่สุดในโลกถูกโจมตีพังยับเยิน




เมือง Kyiv ในยูเครน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บเครื่องบินลำเลียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็คือเครื่องบินขนส่งสินค้า Antonov An-225 ของยูเครน ล่าสุดถูกทำลายจนพังยับโดยการโจมตีของกองทัพรัสเซีย ซึ่งบุกเข้าถล่มสนามบินทางทหาร Antonov ใน Gostomel ใกล้เมือง Kyiv กลุ่ม Ukroboronprom ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ในภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศยูเครน กล่าวในแถลงการณ์นอกเมือง Kyiv ในวันที่สี่ของการบุกจากกองกำลังรัสเซีย 

ผู้คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับสนามบินกอสโตเมลได้เห็นการปะทะกันอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียกล่าวว่า กำลังพยายามยึดโครงสร้างพื้นฐานทางยุทธศาสตร์ทั้งหมดของยูเครน

บริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทธโธปกรณ์ Ukroboronprom ประมาณการว่า เครื่องบินลำเลียง An 225 “Mriya” มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ (2.7 พันล้านยูโร) และอาจใช้เวลานานกว่าห้าปีในการสร้างใหม่

An-225 สร้างขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการการบินและอวกาศของอดีตสหภาพโซเวียต ทำการบินครั้งแรกในปี 1988 หลังจากการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต เครื่องบินลำเลียงขนาดยักษ์ที่มีอยู่เพียงแค่ลำเดียวในโลก ได้ทำการบินทดสอบอีกครั้งในปี 2001 (2544) โดยใช้ฐานทัพอากาศในเมืองกอสโตเมล ห่างจากเมืองเคียฟประมาณ 20 กิโลเมตร Antonov Airlines ของยูเครน ที่ประจำการด้วยเครื่องบินลำเลียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับเที่ยวบินขนส่งสินค้า กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19

Antonov An 225 Mriya เครื่องบินลำเลียงที่ใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้ เป็นอากาศยานที่ถูกออกแบบมาเพื่อการขนส่งลำเลียงทางยุทธศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนจำนวน 6 เครื่องยนต์ ที่ปีกฝั่งละ 3 เครื่อง เมื่อวัดจากหัวไปจนถึงท้ายเครื่อง มันมีความยาวมากที่สุดในโลก และมีน้ำหนักตัวสูงสุดในกลุ่มอากาศยานลำเลียง น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 640,000 กิโลกรัม มีปีกที่กางได้กว้างมากที่สุดของเครื่องบินทุกชนิด

ขั้นตอนการพัฒนา Antonov An 225 Mriya ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อขนส่งกระสวยอวกาศ Buran ของสหภาพโซเวียต แผนแบบของ Antonov An 225 Mriya ได้แบบทั้งหมดมาจาก An 124 ที่ประสบความสำเร็จด้านการบินลำเสียงสัมภาระจำนวนมาก สำหรับการใช้งานขนส่งทางอากาศที่ต้องการความรวดเร็ว An 225 ถูกสร้างขึ้นเพื่อลำเลียงวัสดุชิ้นโต หรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก เครื่อง Antonov An 225 Mriya ทำสถิติการขนของด้วยการโหลดน้ำหนักสินค้า 189,980 กิโลกรัม โดยสามารถขนส่งน้ำหนักรวมได้ถึง 253,820 กิโลกรัม Antonov An 225 ขึ้นทำการบินทดสอบครั้งแรกในปี 1988 ใช้เวลาบินรวมทั้งสิ้น 74 นาที จากเมือง Kiev มาร่อนลงเพื่อตั้งแสดงในงานแสดงการบิน Paris Air Show ในปี 1990 มีการสั่งซื้อเครื่อง Antonov An 225 จำนวน 2 เครื่อง แต่สร้างได้เพียงแค่เครื่องเดียว เครื่องบิน Antonov An 225 Mriya ลำที่สอง สร้างเสร็จบางส่วนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ใช้สำหรับโครงการอวกาศของอดีตสหภาพโซเวียต ก่อนที่จะล่มสลายแล้วกลายมาเป็นประเทศยูเครน An 225 มีประตูขนาดใหญ่สำหรับโหลดสินค้าเข้ามายังตัวเครื่องที่ส่วนท้าย โดยทำการออกแบบหางเสือดิ่งเป็นแบบชิ้นเดียวเพื่อการบรรทุกสินค้าได้สะดวกมากขึ้น

หลังจากการล่มสลายของโซเวียตในปี 1991 ตามมาด้วยการยกเลิกโครงการสำรวจอวกาศที่มีกระสวยอวกาศ Buran ร่วมอยู่ด้วย ทำให้ Antonov An 225 Mriya ลำเดียวที่ใช้สำหรับขนส่งกระสวยถูกเก็บไว้จนถึงปี 1994 เครื่องยนต์ Ivchenko Progress ทั้ง 6 เครื่องยนต์ถูกถอดออกมาติดตั้งกับ An 124 หลังจากนั้นในปี 2000 ความต้องการในด้านการขนส่งสินค้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทางการของยูเครน จึงมีการสร้างเครื่อง Antonov An 225 Mriya ลำที่ยังสร้างไม่เสร็จให้ทันสำหรับการใช้งานหลังจากจอดนิ่งสนิทอยู่ในโรงเก็บมานานหลายปี บริษัทผู้สร้างได้แจ้งกับทางการว่ายังคงขาดเงินงบประมาณในการซ่อมแซมเพื่อทำให้มันกลับมาขึ้นบินได้อีกครั้ง เงินจำนวน 300 ล้านดอลลาร์ หากได้รับการอนุมัติ จะทำให้ Antonov An 225 Mriya กลับมาขึ้นบินได้อีกครั้งภายในระยะเวลา 3 ปี

โครงสร้างหลักของเครื่องบินลำนี้ ได้รับการแผนแบบมาจากเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี An 124 โดยนำมาขยายสัดส่วนความยาวของลำตัวปีกถูกขยายจุดยึดเพื่อเพิ่มความยาวของปีก เครื่องยนต์ Ivchenko Progress D81T Turbo fan จำนวน 6 เครื่องสามารถสร้างแรงยกได้อย่างเหลือเชื่อ ฐานล้อถูกเพิ่มเป็น 32 ล้อ บางชุดของฐานล้อมีกลไกสำหรับการบังคับเลี้ยว ทำให้เครื่องบินสามารถเลี้ยวกลับลำได้ภายในระยะความกว้าง 60 เมตรของทางวิ่งทั่วๆ ไป ล้อหัวของ Antonov An 225 ติดตั้งระบบไฮดรอลิกที่สามารถลดระดับความสูงที่ส่วนหัวเพื่อให้มีความสะดวกในการโหลดสินค้า เข้าหรือออกจากลำตัว ประตูบานหลังและทางลาดแบบไฮดรอลิกที่บริเวณส่วนท้ายถูกตัดออกเพื่อลดน้ำหนัก สำหรับส่วนของแพนหาง ถูกเปลี่ยนจากแบบหางเดี่ยวเป็นแบบสองหางคู่ เพิ่มขนาดของหางเสือขึ้นลง ให้มีขนาดที่ใหญ่เป็นพิเศษ แพนหางแบบคู่ทำให้สามารถบรรทุกสิ่งของภายนอกลำตัวที่มีขนาดใหญ่และหนัก ซึ่งอาจไปรบกวนกระแสอากาศที่ไหลผ่านแพนหาง มันต้องใช้เงินถึง 20 ล้านเหรียญในการซ่อมแซมพื้นห้องบรรทุกสินค้าให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

การปรับพื้นเพื่อรองรับน้ำหนักของสินค้า สามารถเพิ่มน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ที่ 640 ตัน น้ำหนักบินขึ้นสูงของ Antonov An 225 ทำให้มันครองสถิติอากาศยานที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก หนักกว่า Airbus A380 ที่มีน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 591 ตัน สำหรับห้องระวางสินค้ามีการปรับแรงดันแบบอัตโนมัติ ปริมาตรของห้องสินค้า 1,300 cu. m กว้าง 6.4 เมตร สูง 4.4 เมตร ยาว 43.35 เมตร เที่ยวบินพาณิชย์เที่ยวแรก เกิดขึ้นในวันที่ 3 มกราคม 2002 เครื่อง Antonov An 225 บินจากโซเวียตไปยังประเทศโอมาน พร้อมโหลดอาหารสำเร็จรูปจำนวน 216,000 ชุด สำหรับทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในแถบนั้น น้ำหนักของอาหารที่ขนไปในเที่ยวบินแรกมีน้ำหนัก 187.5 ตัน นอกจากนั้น ห้องสัมภาระของมันยังใช้ขนส่งตู้รถไฟ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่หนัก 150 ตันได้อย่างสบายๆ เครื่อง Antonov An 225 กลายเป็นอากาศยานที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์ต้องการนำมาใช้งานในการลำเลียงสิ่งของเข้าไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ

Antonov An 225 ของยูเครน ทำสัญญากับรัฐบาลแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ในการขนส่งอุปกรณ์ทางทหารไปยังตะวันออกกลางเพื่อสนับสนุนกองกำลังผสม ในเดือนพฤศจิกายน 2004 Antonov An 225 บนขนส่งปล่องไฟขนาดใหญ่จากประเทศเดนมาร์กไปยังประเทศคาซัคสถาน โดยมีค่าใช้จ่ายในการบินขนส่งถึง 266,000 ยูโร วันที่ 11 สิงหาคม 2009 น้ำหนักบรรทุกสูงสุดชิ้นเดียวที่อากาศยานสามารถขนขึ้นไปได้ มีความยาว 16.23 เมตร กว้าง 4.27 เมตร คือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับโรงงานแยกแก๊สในอาร์เมเนีย โดยเครื่องปั่นไฟใหญ่ยักษ์ดังกล่าวมีน้ำหนักมากถึง 189 ตัน

วันที่ 11 มิถุนายน 2010 เครื่อง Antonov An 225 บรรทุกใบพัดของอุโมงค์ลมขนาดยักษ์ ที่มีความยาวถึง 42 เมตร โดยขึ้นบินจากจีนไปยังเดนมาร์ก ปัจจุบัน ผู้ที่ครอบครองอากาศยานขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้คือ บริษัทขนส่งทางอากาศ Ukraine Antonov Airlines.

เอกสารอ้างอิง ข้อมูลประกอบการเขียนจากนิตยสาร แทงโก นิตยสารสำหรับคนที่รักการบินและเทคโนโลยีทางการบิน.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/