พ.ร.บ.รถยนต์สำคัญไฉน ไม่ต่อ พ.ร.บ. ได้ไหม ผิดกฎหมายหรือเปล่า?




  • ความสำคัญของ พ.ร.บ.รถยนต์ ซื้อกันทุกปีมีประโยชน์อย่างไร
  • ตอบคำถามไม่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ได้หรือไม่
  • ขั้นตอนการเคลมประกันจาก พ.ร.บ.รถยนต์ ทำอย่างไร ได้ผลประโยชน์เท่าไหร่

เมื่อถึงเวลาต้องเสียภาษีป้ายทะเบียนในแต่ละปี ต้องทำ พ.ร.บ.รถยนต์ควบคู่ไปด้วย แม้มันจะเป็นกฎบังคับว่ายานพาหนะทุกคันจำเป็นต้องต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ทุกปี แต่ก็สงสัยเหลือเกินว่ามันจำเป็นจริงหรือ และหากเราทำประกันภัยรถยนต์ต่างหากอยู่แล้วยังจำเป็นต้องเสียค่า พ.ร.บ.รถยนต์อีกหรือไม่

พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร

ชื่อเต็มๆ ของเจ้า พ.ร.บ.รถยนต์ คือ พระราชบัญญัติประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ. ซึ่งก็สมตามชื่อ ภาคบังคับ ต้องต่ออายุทุกปีจึงจะสามารถเสียภาษีรถยนต์รายปีได้

ไม่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ได้หรือไม่

คำตอบคือ ไม่ได้ ไม่งั้นจะมีโทษทางกฎหมายครับ เจอปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งเจ้าของรถและผู้ที่นำรถที่ไม่มีประกันภัยตาม พ.ร.บ.มาใช้

อัตราค่าใช้จ่าย ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2564

– รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน 600 บาทต่อปี
– รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 บาทต่อปี
– รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 บาทต่อปี
– รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 บาทต่อปี
– รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 40 ที่นั่ง บาทต่อปี
– รถยนต์ไฟฟ้า 600 บาทต่อปี
ราคายังไม่ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%

ประโยชน์ของ พ.ร.บ.รถยนต์

ในเมื่อเราจ่ายเงินซื้อเจ้าประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับมาแล้วย่อมต้องมีความคุ้มครองหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นแน่นอน โดยเราสามารถเคลมอุบัติเหตุได้กับบริษัทประกันที่เราซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ มา ในกรณีที่

บาดเจ็บ สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลได้ โดยทาง พ.ร.บ.จะจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
ทุพพลภาพ หากพิการหลังเกิดอุบัติเหตุ ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกจากค่ารักษาเบื้องต้น 30,000 บาทจากข้อ 1 แต่ไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน
เสียชีวิต ถ้าเสียชีวิตทันทีหลังจากประสบอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะจ่ายเงินค่าทำศพ 35,000 บาทต่อคน แต่หากเสียชีวิตหลังจากรับการรักษาไปแล้ว (จากข้อ 1 ตามวงเงินรักษา 30,000 บาทต่อคน) ทางประกันก็จะจ่ายแบบเหมารวมไม่เกิน 65,000 บาท

อันนี้เป็นการเคลมได้ทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิดของผู้เอาประกันภัย แต่หากพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ขับฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ฝั่งบริษัทประกันที่เป็นฝ่ายผิดจะรับผิดชอบแก่ผู้เสียหาย ในกรณีบาดเจ็บ รับค่าชดเชยไม่เกิน 80,000 บาท แต่หากเสียชีวิตหรือพิการ จะชดเชยเป็นเงิน 500,000 บาท

ขั้นตอนเคลม พ.ร.บ.

ผู้บาดเจ็บหรือทายาท สามารถยื่นเรื่องขอรับค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลเป็นผู้รับแทนก็ได้ ภายใน 7 วันโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด และระยะเวลาในการขอใช้สิทธิ์ พ.ร.บ.ภายใน 180 วันหลังจากวันที่เกิดเหตุ โดยเตรียมหลักฐานให้ครบ ดังนี้

1. สำเนาบัตรประชาชนทั้งผู้บาดเจ็บและเจ้าของรถ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. สำเนาบันทึกประจำวันจากตำรวจ
4. สำเนาหนังสือจดทะเบียนรถ
5. ตารางกรมธรรม์ประกันภัย
6. ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากทางโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา

สำหรับในกรณีเสียชีวิต นำเอกสาร สำเนาบันทึกประจำวันพนักงานสอบสวนที่แสดงว่าผู้รับประกันถึงแก่ความตายจากประสบภัยจากรถ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสบอุบัติเหตุ สำเนาบัตรประชาชนทายาท สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาใบมรณบัตร ยื่นกับทางบริษัทประกันนั้นๆ

ผู้เขียน : เครื่องยนต์คนขยัน