พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านไทย สร้างเชื้อจุลินทรีย์ดีในลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน




  • โพรไบโอติก หรือจุลินทรีย์มีชีวิต ในอาหารพื้นบ้านจากการหมัก ดอง และบ่ม เช่น ข้าวหมาก ถั่วเน่า ผักเสี้ยนดอง จะลดความถี่ในการเกิดภูมิแพ้ ทำให้ระบบขับถ่ายดี ช่วยควบคุมน้ำหนัก ผลิตวิตามินที่มีประโยชน์ และช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
  • อาหารเป็นยา ในการนำพืชผักสมุนไพรมาทำอาหาร จะเป็นทางเลือกให้คนเข้าถึงได้ง่าย และโพรไบโอติก กำลังเป็นเทรนด์ของโลก ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่ญี่ปุ่นมีการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยโรคซึมเศร้าอยู่ในขณะนี้
  • กิมจิของเกาหลี มีการศึกษาวิจัยพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ และไทยพบว่าสมุนไพร 9 ชนิด ทั้งขมิ้นขาว กลอย ลูกยอ ตะไคร้ ขิง เม็ดบัว กระเจี๊ยบเขียว ข่า และหอมแดง เมื่อนำมาปรุงอาหาร มีคุณสมบัติช่วยสร้างเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ หรือเรียกว่า “พรีไบโอติก”

พืชผักสมุนไพร เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือเรียกว่า อาหารเป็นยา จะเป็นทางเลือกที่คนเข้าถึงได้ง่าย “ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า โพรไบโอติกส์ หรือจุลินทรีย์มีชีวิต ในอาหารพื้นบ้านจากการหมักดอง และบ่ม เช่น ข้าวหมาก ถั่วเน่า ผักเสี้ยนดอง ลดความถี่ในการเกิดภูมิแพ้ ทำให้ระบบขับถ่ายดี ช่วยควบคุมน้ำหนัก ผลิตวิตามินที่มีประโยชน์ และช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน

ในปี 2563 ตลาดผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก มีมูลค่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดการณ์ว่าในอนาคตตลาดจะใหญ่มากขึ้น จะเป็นเทรนด์ของโลก เพราะตัวเชื้อในอาหารจะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และหลอดเลือดหัวใจ ปัจจุบันมีงานวิจัยออกมาว่าโพรไบโอติกส์ที่มีส่วนผสมของแลคโตบาซิลลัส รามโนซัส จีจี (Lactobacillus rhamnosus GG) มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดอาการหลังโควิด

ขณะที่ญี่ปุ่นมีการศึกษาวิจัยอาหารเพื่อช่วยโรคซึมเศร้า หรือกิมจิของเกาหลี พบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ทำให้ไทยมีการศึกษาวิจัยอาหารช่วยสร้างเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ หรือที่เรียกว่า “พรีไบโอติก” แต่ด้วยอาหารไทยมีความหลากหลายมาก หากทำเป็นเซตเมนู ทำเป็นอาหารพรีไบโอติก จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

“การกินอาหารสร้างเชื้อจุลินทรีย์ตัวดี อาจไม่ได้ผลทุกราย เพราะระบบนิเวศของเชื้อในแต่ละคนแตกต่างกัน ด้วยพฤติกรรม พันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด จะต้องเคลื่อนไหวลำไส้ ด้วยการออกกำลังกาย การเดิน ทำให้เชื้อดีเติบโตเพิ่มจำนวนได้ง่าย และการนอนหลับที่เพียงพอ ไม่เครียด เพราะความเครียดทำให้เชื้อดีลดลง”

สมุนไพร 9 ชนิด ช่วยสร้างเชื้อที่ดีในลำไส้ ให้เติบโต

ที่ผ่านมาได้นำพืชผักสมุนไพรกว่า 100 ชนิดไปทดสอบว่ามีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเชื้อดีในลำไส้หรือไม่ และพบว่าสมุนไพร 9 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นขาว กลอย ลูกยอ ตะไคร้ ขิง เม็ดบัว กระเจี๊ยบเขียว ข่า และหอมแดง เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารมีคุณสมบัติช่วยสร้างเชื้อที่ดีในลำไส้ให้เติบโตได้ดี

ส่วนงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าอาหารหมักพื้นบ้านมีประโยชน์ ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ช่วยให้เชื้อดีสร้างวิตามิน ย่อยโปรตีนได้ดีขึ้น และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เคยส่งผักดอง 58 ตัวอย่าง ให้มหาวิทยาลัยเกษตร ทำการตรวจสอบ พบว่าทุกตัวอย่างมีเชื้อดีอย่างน้อย 2 ชนิด ส่วนผักเสี้ยนดองและหัวหอมดอง พบเชื้อดีมากถึง 4 ชนิด ซึ่งในผักดองมีทั้งอาหารเชื้อในผัก และมีเชื้อดีด้วย

อย่ามองข้ามพืชผักพื้นบ้าน ถอนทิ้งคิดว่าเป็นวัชพืช

ขณะที่พืชผักพื้นบ้านหลายชนิดของไทยมีประโยชน์ แต่หลายคนอาจไม่รู้จักคิดว่าเป็นวัชพืช จึงมีการทำลายไปอย่างน่าเสียดาย อย่างผักกะสังข์ ลำต้นและใบสีเขียวอวบน้ำ ของดีที่ถูกมองข้ามมักถูกถอนทิ้ง “ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ระบุว่า ผักกะสังข์ มีสรรพคุณบำรุงสายตา แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดท้อง ช่วยย่อย ส่วนเหนือต้นกินสด ทำซุปแกงจืดได้อร่อย นอกจากนี้ยังมีต้นปืนนกไส้ หรือหญ้าก้นจ้ำ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ส่วนใบยอดสามารถนำไปลวกจิ้มน้ำพริก และทำซุปแกงจืด

รวมถึงผักเป็ดแดง บำรุงร่างกาย บำรุงน้ำนม แก้ไข้ ขับปัสสาวะ โดยนำยอดอ่อนมาลวก และแกงกินได้ เช่นเดียวกับกะเม็ง มีสรรพคุณรักษาแผลสด การติดเชื้อของผิวหนัง แก้อักเสบ บำรุงผม และกระดูกไก่ดำ แก้ฟกช้ำ แก้อักเสบเฉียบพลัน ยอดอ่อนกินเป็นผักสดมีรสขม เป็นต้น

ผู้เขียน : ปูรณิมา