พระสมเด็จ ทรงเจดีย์เกศบัวตูม




เจตนาตั้งชื่อ…ทรงเจดีย์เกศบัวตูม ก็เพื่อให้สะดุดใจ เรียนรู้ความลึกซึ้งพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง ให้กว้างขึ้น

หากคุ้นเคยกับการเรียกพิมพ์ของครู “ตรียัมปวาย” ที่จำแนกไว้ เป็นพิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์หนึ่ง เป็นเกศบัวตูมอีกพิมพ์หนึ่ง แท้จริง พระเกศสมเด็จวัดระฆัง…ที่เข้าใจกันว่า เห็นในพิมพ์เกศบัวตูม ในทรงเจดีย์หลายพิมพ์ ก็มี

ทรงเจดีย์พิมพ์เล็ก หรือพิมพ์ชะลูด “ตรียัมปวาย” เน้นว่า “จอม” หรือ “หย่อมพระเมาลี” เหนือพระเศียร ค่อนไปทางสูง งดงามกลมกลืนยิ่ง

ส่วนทรงเจดีย์พิมพ์อื่นๆที่เห็นกันคุ้นตา หลายองค์ปรากฏ “จอม” หรือ “หย่อมพระเมาลี” แบบค่อนไปทางกว้าง

จนน่าจะพออนุมานได้ว่า ถ้าเนื้อพระไม่ยุบตัวมาก สมมติให้ช่างแกะแม่พิมพ์ไว้วิจิตรบรรจงเท่าไหร่ เมื่อกดพิมพ์พระออกมาได้คมชัดเท่านั้น…

เราคงเห็นพระสมเด็จทรงเจดีย์ ที่มีหูมีตา มีพระเกศเป็นปุ่มเป็นปมทุกองค์

ย้อนไปหาวิชาครู “ตรียัมปวาย” อธิบายไว้ใน “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จ จำแนกไว้เป็นหลักการกว้าง พระเกศพระสมเด็จวัดระฆังทุกพิมพ์ เป็นแบบปลี แบบเรียว แบบจิ่ม ฯลฯ

แบบจิ่มที่ครูว่า คือเค้า ของพระเกศ “บัวตูม” ที่เห็นในหลายพิมพ์ ไม่ว่าพิมพ์เกศบัวตูม หรือพิมพ์ทรงเจดีย์

เหลือบตาไปดูพระสมเด็จวัดระฆัง “ทรงเจดีย์เกศบัวตูม” ในคอลัมน์นี้ อีกที คนแม่นทรงเจดีย์ คงเห็นเค้า องค์นี้ เส้นสายลายพิมพ์ไปทางเดียวกับหลายองค์ครูที่คุ้นตา อย่างองค์เจ๊แจ๋ว องค์คุณชาติ

เฉพาะองค์คุณชาติ เป็นองค์ที่ถูกชี้ตำหนิ บริเวณเดียวกับหลายองค์เห็น “พระเกศป่อง” นั้น มีเนื้อเกิน เห็นเป็น “พวงมาลัย” ใช้คำ “พวงมาลัยครอบพระเกศ” จะเห็นภาพชัดขึ้น

จึงพอมโนต่อได้ว่า พระเกศที่บางองค์เห็นป่องออกทางซ้าย (องค์พระ) และบางองค์เห็นป่องทั้งสองข้าง ทั้งซ้ายและขวาจนเห็นเป็นพวงมาลัยนั้น เกิดจากการยุบตัวของเนื้อพระไม่เท่ากัน

บางองค์ที่เคยผ่านตา จุดป่องหรือเนื้อเกินด้านซ้ายที่เห็นเป็นพวงมาลัย มีเนื้อเกินเป็นเส้นเฉขึ้นด้านบน

ตั้งสติ ทำความเข้าใจกับลักษณะของพระเกศ บริเวณนี้เอาไว้…เพราะดูเหมือนว่า จุดที่เห็นเหมือนแปลกตา เซียนน้อยเซียนใหญ่คงเห็นเป็นส่วนเกิน จึงไม่กล้าปล่อยให้หลุดออกมาในตลาดล่างอยู่บ้าง

ถ้าพอเข้าใจลักษณะพวงมาลัยครอบพระเกศแล้ว ลองมาทำความเข้าใจกับองค์ในคอลัมน์

ลักษณะพระเกศองค์นี้ แปลกตายิ่งกว่า เห็นชัดเจน จากจอมหรือหย่อมพระเมาลีส่วนแรก ที่เรียก “บัวตูม” ยังมีดอกบัวตูมเชื่อมต่อ เป็นดอกที่สอง จนถึงบัวตูมดอกที่สาม…แล้วยังทิ้งปลายพระเกศเรียวบาง ขึ้นไปชนซุ้ม

จะมโนได้หรือไม่ นี่คือลักษณะของพระเกศจากฝีมือช่างที่แกะไว้เดิมๆ เมื่อกดแม่พิมพ์ออกมาติดชัดเจนทุกช่อชั้น จะเรียกให้จำฝังใจว่า “สามบัวตูม” ก็ไม่ผิด

หากได้ถือพระในมือ ลองตะแคงพระดูด้านข้าง ก็จะเห็นบัวตูมดอกที่สาม เป็นปุ่มนูนสูงกว่าบัวตูมสองดอกล่าง ตรงบัวตูมสูงมากนี่เอง พอทำความเข้าใจได้ เป็นบริเวณเดียวกับที่เห็นเป็นพวงมาลัย

หรือเป็นบริเวณที่เห็นเป็น “ป่องกลาง”

ตัวแปรสำคัญของการเห็นไม่เหมือนกันเหล่านี้ อยู่ในตัวแปร เนื้อพระหดตัวไม่เหมือนกัน

ผ่านเรื่องพระเกศไปแล้ว ย้อนมาพิจารณาเนื้อหา

องค์นี้สึกช้ำกำลังงาม เนื้อออกเหลืองคล้ำ กลมกลืนกับฝ้ารักสีแดงอมน้ำตาล เรียกตามวิชาครูว่า “เนื้อขนมตุ้บตั้บ” ความหนึกหนุ่มความซึ้งถึงขีดสูงสุด ไม่ว่าด้านหน้าและหลัง พระสมเด็จวัดระฆังสภาพนี้แหละ ที่เซียนรุ่นเก่าใช้คำว่า “เนื้อจัดดูง่าย”.

พลายชุมพล