พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ สภาพสมบูรณ์สวยเยี่ยม ได้รับความนิยมสูงสุด




พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ วัดใหม่อมตรส ของอ้วน ลอยฟ้า.

วันนี้ เปิดสนามก็ลุยกันเลย เพราะรู้สึกสัมปทานน้อย ไม่พอให้เวิ่นเว้อ องค์แรก ขอเสนอ พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ วัดใหม่อมตรส กรุงเทพฯ

ในช่วงเวลาปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 เสมียนตราด้วง ต้นตระกูล ธนโกเศศ ผู้อุปถัมภ์วัด มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา จึงบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ และสร้างพระเจดีย์องค์ประธาน โดยสร้าง พระพิมพ์ บรรจุไว้ เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา และสร้างพระเจดีย์องค์เล็ก บรรจุอัฐิบรรพบุรุษ รายรอบ

การบูรณะเริ่มแต่ปี พ.ศ.2411 พอเสร็จในปี 2413 เสมียนตรา (ด้วง) ก็ไปขออนุญาต เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม จัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จเหมือนของวัดระฆังฯ เพื่อบรรจุในองค์พระเจดีย์ใหญ่

แต่พระพิมพ์สงบสุขอยู่ไม่นาน ก็ถูกขโมย ตกกรุ ลักลอบนำพระออกจากกรุหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2425 ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2436 ครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2459 ซึ่งพระกลุ่มนี้ เรียกว่า พระกรุเก่า จะมีคราบกรุบางเบา เนื้อพระหยาบ ไม่มีฟองเต้าหู้หรือเม็ดกรวดทรายเกาะติดเนื้อ

พอทนขโมยไม่ไหว เมื่อวันที่ 24 พ.ย. พ.ศ.2500 ทางวัดจึงทำพิธีเปิดกรุ นำพระพิมพ์ เนื้อผงพุทธคุณ ผสมปูนเปลือกหอย รูปทรงสี่เหลี่ยม ออกมาให้เช่าบูชาเป็นพันๆองค์

แยกได้ 10 พิมพ์ คือ 1.พิมพ์พระประธานใหญ่ (แบบวัดระฆังฯ) 2.พิมพ์เกศบัวตูม (วัดระฆังฯ) 3.พิมพ์เจดีย์ (วัดระฆังฯ) 4.พิมพ์ฐานแซม (วัดระฆังฯ)

และพิมพ์ที่แกะเพิ่มใหม่ 1.พิมพ์เส้นด้าย 2.พิมพ์อกครุฑ 3.พิมพ์สังฆาฏิ 4.พิมพ์ฐานคู่ 5.พิมพ์ปรกโพธิ์ (จำนวนน้อย) 6.พิมพ์ไสยาสน์ ซึ่งมีน้อยมาก–องค์นี้ ของ เสี่ยอ้วน ลอยฟ้า เป็น พิมพ์ใหญ่ สภาพสมบูรณ์สวยเยี่ยม ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงสุดในสกุล พระสมเด็จบางขุนพรหม

สำหรับตระกูล ธนโกเศศ นี้ เราต้องพูดถึงกันเสมอ แต่ก็มีเพียงชื่อ เสมียนตรา (ด้วง) ผู้เป็นต้นสกุล หลังจากนั้นก็แทบไม่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามคนในสกุลนี้นัก พอมี คำถามสนามพระ มา (นานแล้ว) ข้าพเจ้าจึงยังไม่ได้ตอบสักที

จนมาเจอชื่อ ครูเตียง ธนโกเศศ ว่าเป็นบุตรของ ขุนธนโกเศศ เกิดในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2426 เป็นผู้มีชื่อเสียงว่า นายเตียง คนซอด้วง บ้านอยู่หน้าวังบางขุนพรหม เป็นคนสีซอฝีมือดี

จากนามสกุลก็เป็นลูกหลานของ ท่านเสมียนตรา แน่ เพราะบ้านอยู่หน้าวังบางขุนพรหม หรือปัจจุบันคือแบงก์ชาติ ซึ่งไม่ห่างจากวัดบางขุนพรหม

ครูเตียง ได้รับยกย่องจาก คุณหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ว่าเป็นคนสีซอด้วงฝีมือดีที่สุด จำเพลงแม่น และทางเพลงดีมาก

ในกลุ่มนักดนตรีฝีมือดีทางเครื่องสาย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗ ครูเตียง จัดอยู่แถวหน้า เคยเข้าไปบรรเลงถวาย พระบาทสมเด็พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวังศุโขทัย และเคยเป็นครูสอนเครื่องสายในวังศุโขทัยด้วย

ท่านมีบุตร 7 คน เป็นลูกไม้ใต้ต้น เป็นนักดนตรีเหมือน ครูเตียง ถึง 3 คน ซึ่งคนโต คือ ครูเบญจรงค์ เล่าว่า พ่อดุมาก เวลาสอนจะตีเจ็บๆ จึงสอนลูกตัวเองไม่ได้ เพราะกลัวจะตีลูกเจ็บ

หลังเปลี่ยน แปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนตำบลบางขุนพรหม และเป็นสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัดพระนครด้วย

ตอบ คำถามสนามพระ ได้แค่นี้ ส่วนที่ถามว่า ทายาทเสมียนตราด้วง น่าจะมี พระสมเด็จบางขุนพรหม อยู่ไหม ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ตอบไม่ได้

แต่คะเนจากยุค ครูเตียง ที่เกิด พ.ศ.2426 ก็เป็นช่วงก่อน เสมียนตรา จะสร้างพระ ใน พ.ศ.2413 ราวๆ 13 ปี ตอนนั้น หาก เสมียนตรา แจกจ่ายพระให้ญาติพี่น้อง ครูเตียง ก็เพิ่งเกิด และกว่าจะโต พ่อแม่ที่อาจจะได้พระจากต้นตระกูล จะมีพระเก็บไว้ให้ลูกๆอีกไหม

และช่วงเปิดกรุ พ.ศ.2500 ซึ่งมีคนเสาะหาพระกรุบางขุนพรหมกัน คนก็ทราบอยู่แล้วว่ามีคนสกุลนี้อยู่ ซึ่งต้องคนใดคนหนึ่งมีพระแน่ ก็คงจะบุกไปเจาะรังหมดแล้วก็เป็นได้–นี่คือ คิดเอง เออเอง เจ้าค่ะ แต่ไม่ถึงกับตอบมั่ว

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ของศุภชัย สายัณห์ .

องค์ที่สอง เป็น พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมืองสุพรรณบุรี พระพิมพ์เนื้อดิน หนึ่งเดียว ที่ค้นพบจากกรุองค์พระปรางค์เจดีย์ พร้อมพระร่วมกรุที่ล้วนเป็นเนื้อโลหะ อาทิ พระกำแพงศอก พระกำแพงนิ้ว พระมเหศวร พระปทุมมาศ พระสุพรรณยอดโถ ฯลฯ

พระมีพุทธศิลป์ สมัยอู่ทอง มีพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และ พิมพ์หน้าหนุ่ม ซึ่งในอดีต ตอนพระขึ้นจากกรุใหม่ๆ แทบไม่ได้ รับความสนใจ เพราะหาแต่พิมพ์หน้าแก่ ซึ่งศิลปะดูเข้มขลัง มีตบะเดชะ สร้างศรัทธาได้ว่ามีอานุภาพ คุ้มครองป้องกันภัย

และเมื่อ พระผงสุพรรณ ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน เบญจภาคี ทำให้ พระพิมพ์หน้าแก่ ถูกเก็บไปหมดตลาด ผู้สนใจจึงต้องหันมาหาพระพิมพ์รอง–ถ้างามๆ สวยแชมป์อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยศุภชัย สายัณห์ ตอนนี้ ราคาหลักล้าน และเทียบชั้นกับพิมพ์เบอร์ต้นได้ไม่แพ้

พระยอดขุนพล ซากังราว กรุวัดอาวาสน้อย ลานทุ่งเศรษฐี ของแมน ลพบุรี.

องค์ที่สาม เป็นพระกรุ พระเก่า เนื้อชิน ยอดนิยมแถวหน้า พระยอดขุนพล ซากังราว เสมาตัด กรุวัดอาวาสน้อย ลานทุ่งเศรษฐี อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ของ เสี่ยแมน ลพบุรี

พบในกรุพระ บริเวณลานทุ่งเศรษฐี อาทิ วัดบรมธาตุ วัดอาวาสน้อย วัดพิกุล มีทั้งเนื้อชินเงิน เนื้อดิน และเนื้อว่าน ที่หน้าเป็นแผ่นทอง

ลักษณะเป็นองค์พระรูปทรง “เสมาตัด” ด้านหน้า เป็นองค์พระนั่งปางสะดุ้งมาร ประทับเหนือฐานบัวคว่ำ-หงาย อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว

นิยมเรียก “พระยอดขุนพล” เพราะสื่อถึงอำนาจ ผู้นำในการรบของทหารโบราณ ซึ่งมีคนพบประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์จากการบูชาติดตัว และยังพบอานุภาพด้านเมตตา ค้าขาย ตามเกียรติคุณพระเครื่องแห่งลานทุ่งเศรษฐี

พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของศรัณย์ยักษ์ เวสสุวรรณ.

ต่อไป เป็น พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ วัดราชสิทธาราม เขตบางกอกใหญ่ กทม. พระพิมพ์นิยมแถวหน้า ตระกูล “พระวัดพลับ” ที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่ร้อนแรง แต่ก็ไม่หยุดนิ่ง

เป็นแบบน้ำซึมบ่อทราย ที่จับตามองของนักนิยมพระ ที่ชอบลุ้นทำกำไร โดยเฉพาะพระพิมพ์แถวหน้าสภาพสวยสมบูรณ์ ฟอร์มดี พิมพ์เด่น เนื้อจัด แท้ดูง่าย อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยศรัณย์ยักษ์ เวสสุวรรณ

พระกริ่งสวนเต่า อุ้มหม้อน้ำมนต์ ร.๕ ของ อิทธิ ชวลิตธำรง.

อีกรายการเป็น พระกริ่งสวนเต่า อุ้มหม้อน้ำมนต์ ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ ทรงสร้างสำหรับมอบเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยฝีมือช่างหลวงทรงประกอบพิธี บริเวณ “สวนเต่า” ในพระบรมมหาราชวัง

พระกริ่งสวนเต่า มีหลายแม่พิมพ์ บางองค์สวมประคำ บางองค์ไม่สวมประคำ ลักษณะเป็นพระนั่ง ลอยองค์ เนื้อโลหะ พุทธศิลป์ยุครัตนะ พบทั้งบรรจุกริ่ง ปิดฐาน และไม่บรรจุ

พิมพ์ที่ได้รับความนิยม มีพิมพ์สมาธิ พิมพ์อุ้มบาตร และ อุ้มหม้อนำมนต์ อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง ที่เป็นพิมพ์นิยมสุดๆ พบน้อย หายากมาก–สภาพพระสมบูรณ์ สวยแชมป์ สูงส่งด้วยพุทธศิลป์แบบนี้ ราคาหลักล้านอยู่แร้ว สำหรับ สวนเต่า หรือ สระเต่า สมัยโบราณ เป็นที่นิยมของราชสำนัก และเจ้านายในสมัยโบ ราณ และวัด เพราะเต่าเป็นสัตว์มงคล อายุยืนยาว แต่ทุกวันนี้สระเต่าจะมีอยู่ตามวัด เพราะคนนิยมไปปล่อยเต่าที่บ่อตามวัด ซึ่งต้องระวัง ดูให้ดีว่าเต่าที่จะไปปล่อยคือเต่าบกหรือเต่าน้ำ เพราะถ้าเอาเต่าบกไปลงน้ำ ก็ม่องเท่ง แทนที่จะได้บุญกลับสร้างบาป

เต่าวัด ในไทย ส่วนใหญ่เป็น พันธุ์เต่าน้ำ กินสัตว์น้ำเป็นอาหาร จะให้อาหารเต่าน้ำ จึงควรให้อาหารเม็ดแบบปลากิน หรือลูกกุ้ง ลูกปลา เพราะเต่าน้ำไม่ชอบกินผักบุ้งหรือถั่วฝักยาว–ไม่ได้เข้าไปวัดบวรฯ นานมากแล้ว แต่ยังจำได้ว่ามีสระเต่าอยู่ข้างกุฏิ ตอนนั้นน้ำเขียวอื๋อ จนคิดว่าเต่าจะป่วยกันไหมเนี่ย ต่อไปคือ พระเชียงแสนปรกโพธิ์ พิมพ์สมาธิเล็ก พระพิมพ์ เนื้อชิน ที่พบแพร่หลายตามกรุพระเมืองเชียงแสน ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนสยามประเทศ ก่อนถูกยุบรวมเป็นอำเภอหนึ่งของเชียงรายในสมัยต่อมา ในสมัย ร.๕ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๓๘ ซึ่งค้นพบงานพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียง เป็น พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ แบบพระเชียงแสนสิงห์ ๑ ในยุคแล้ว และยังพบ พระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดง เนื้อตะกั่วแซมไขขาว ที่มีชื่อเสียงอีกหลายกรุ

เช่น พระซุ้มปราสาทไหว กรุเจดีย์ปราสาทคุ้ม พระซุ้มเปลวเพลิง กรุวัดพระบวช พระเชียงแสนปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดต้นแก้ว พระปรกโพธิ์เชียงแสน พิมพ์กลาง กรุวัดพระธาตุเขียว พระลีลา เชียงแสน กรุวัดพระธาตุเมืองมา–และ พระพิมพ์เชียงแสนปรกโพธิ์เล็ก อย่างนี้ ของ ส.จ.บอมบ์ เมืองน่าน ที่หายากสุดๆ และราคาก็แพงมากๆแล้ว

พระพิมพ์หน้าหนุมาน แบกแท่น หลังพระคงจิ๋ว หลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก ของแมน รัตนา.

รายการต่อไป คือ พระพิมพ์หน้าหนุมาน แบกแท่นหลังพระคงจิ๋ว หลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ อีก 1 ในพระพิมพ์นิยมของสำนักวัดบางปะกอก

เป็นพิมพ์ที่มีผู้สนใจหากันมาก เพราะสร้างพิเศษ จำนวนน้อย เสี่ยแมน รัตนา จึงถูกถามตลอดว่าเปิดราคาเท่าไหร่

พระปิดตา พิมพ์ชะลูด บรรจุกรุ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ของแจ๊ค สามพราน.

อีกสำนัก คือ พระปิดตา พิมพ์ชะลูด บรรจุกรุ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่ค้นพบจากกรุองค์พระเจดีย์ หน้าพระอุโบสถ วัดสะพานสูง ที่บรรจุอัฐิหลวงปู่เอี่ยม

ตอนพบก็ฮือฮากันมาก เพราะเป็นพระพิมพ์เดียวกับพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื้อพระมีอายุความเก่าถึงยุค ทำให้นักนิยมพระบุกเช่า จนราคาหลักพันขึ้นถึงหลักหมื่นปลายในพริบตา

แต่พอราคาขยับขึ้นแตะหลักแสน ก็เกิดมี “พระเก๊” ออกมา ทำให้การเล่นหาหยุดชะงักไปหลายปี จนมีเซียนใหญ่สายตรงออกมายืนยันการแยก “พระเก๊-พระแท้” ได้อย่างชัดเจน สมเหตุสมผล ทำให้กลับมาคึกคักขึ้นอีก

เวลานี้ องค์งามๆ สภาพสวยเดิมๆ แบบองค์นี้ ของ เสี่ยแจ๊ค สามพราน ราคากลาง ซื้อขายเบาะๆ ก็ต้องว่ากันที่หลักแสนต้นๆแล้ว

มาถึงเรื่องปิดท้ายสบายใจทั้งคนอ่านคนเล่า คราวนี้เกิดขึ้นที่ลานคนเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่ง ผู้ว่าชัชชาติ ให้จัดหนังกลางแปลงย้อนยุค จึงมีพ่อค้าแม่ค้ารุ่นเก่า ที่คุ้นหน้ากันไปชุมนุมเตรียมเปิดร้านอย่างครึกครื้น

ก่อนถึงเวลาก็จับกลุ่มพูดคุย ถามไถ่กันว่าใครมาขายของอะไร ตั้งร้านตรงไหน ซึ่งมีทั้งอาหาร ขนม อ้อยควั่น ถั่วทอด ข้าวโพดปิ้ง ถั่วต้ม ขนมถ้วย ขนมหวาน ข้าวเกรียบว่าว ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู ปลาหมึกย่าง ลูกชิ้นปิ้ง

เจ้าของร้านแต่ละคนก็พูดคุยกันด้วยความภูมิใจว่าเป็นอาชีพที่มีมาแต่โบราณ และภูมิใจที่ได้อนุรักษ์

กำลังคุยกันก็หันไปเห็นเสี่ยสุดใจ ที่ยืนฟังยิ้มกริ่ม พ่อค้าแม่ค้าไม่คุ้นหน้า จึงถามว่า แล้วคุณมาขายอะไร ไม่ค่อยเคยเห็นหน้ามาก่อนนะ

เสี่ยสุดใจ ยิ้มแป้น ตอบว่า ผมไม่ได้มาขายของกิน แต่มาเปิดแผงซื้อขายพระ เพิ่งทำมาได้ไม่กี่ปี แต่ก็เป็นอาชีพที่มีมาดั้งเดิมเหมือนกันนะ และเล่าว่า ปกติเปิดร้านอยู่บนศูนย์พระ วันนี้ลองมาเปิดแผงดูอ่ะครับ

มีคนทักว่าจะขายได้ไหม เพราะขายของไม่เหมือนคนอื่น เสี่ยสุดใจ จึงตอบว่า ไม่เน้นขายเลย แต่ที่มาเพราะเห็นว่าเป็นงานที่น่าจะมีคนรุ่นเก่าๆมาชุมนุมเยอะ เลยหวังฟลุกได้พระเก่า เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง