ประวัติวันตรุษจีน มีความสำคัญ ความเชื่ออย่างไร พร้อมคำอวยพรดีๆ




วันตรุษจีน 2565 นี้ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เทศกาลตรุษจีนปีนี้จึงใกล้กับวันวาเลนไทน์ด้วย ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทุกคนในครอบครัวจะได้มารวมตัวทำกิจกรรมไหว้บรรพบุรุษ และอยู่กับคนที่คุณรัก วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมาย้อนดูประวัติวันตรุษจีนว่ามีที่มาและความสำคัญอย่างไร

ประวัติวันตรุษจีน

“เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันตรุษจีน” ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ จากการค้นคว้าของ กิตติธัช นําพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่นที่ 3 เจ้าของกิจการปฏิทินน่ำเอี้ยง ซึ่งเป็นปฏิทินจีนฉบับภาษาไทยที่ได้รับความนิยมมากในไทย ได้พบข้อมูลว่าเทศกาลตรุษจีนอาจเริ่มต้นในราชวงศ์โจว 周朝 (1046-256 ปีก่อนคริสตศักราช) เริ่มใช้คำว่า “Nián (年)” ซึ่งมีความหมายว่า “ปี” ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน ให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี

ดังนั้น เทศกาลปีใหม่จีนจึงไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดย “วันตรุษจีน” จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูหนาว (大寒 ) และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ (立春) ที่แสงอาทิตย์มีอิทธิพลสร้างความอบอุ่น บรรเทาความหนาวจนสิ้นสุดลง และดอกไม้ต่างๆ เริ่มผลิบาน จึงตั้งเป็นวันแรกของฤดูทั้ง 24 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน

สมัยนั้นชาวจีนให้ความสำคัญกับการเพาะปลูก จึงให้ความสำคัญกับปฏิทินจันทรคติด้วย เพื่อเตรียมเพาะปลูก เก็บเกี่ยว รวมถึงเตรียมไหว้เทพเจ้าในวันสำคัญตามความเชื่อทางศาสนา

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มาก ในปี 2562 SCB Economic Intelligence Center (EIC) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า จำนวนครัวเรือนไทย 96% มีค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศล โดยสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการทำบุญ ไหว้เจ้า รวมทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6,200 บาท ต่อครัวเรือน และครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศลมากกว่า สอดคล้องกับพฤติกรรมการไหว้เจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ผู้สูงวัยมักจะเป็นผู้นำของกิจกรรมจับจ่ายซื้อของไหว้เจ้า

นอกจากการไหว้เจ้าแล้วสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลตรุษจีน คือการเตรียมทำความสะอาดบ้าน ทาสีบ้านใหม่ ตัดผม หาเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส ประดับโคมไฟสีแดง และตุ้ยเหลียน (ป้ายคำอวยพรความหมายมงคล) ไว้หน้าบ้าน รวมถึงเตรียมซองอั่งเปาสำหรับมอบให้กับเด็กๆ ที่มาอวยพรให้ผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง

ของไหว้ตรุษจีน มีอะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร

ของไหว้ตรุษจีน จะประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง รวมถึงอาหารแห้ง, อาหารเจ, ผลไม้, ขนมมงคล และกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อจำลองสิ่งมีค่ามอบให้กับบรรพบุรุษ ไม่นิยมใช้ของไหว้ที่มีสีดำ หรือสีขาว เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า ส่วนของไหว้ที่นิยมต่างๆ พร้อมความหมาย มีดังนี้

เนื้อสัตว์ 5 อย่าง ที่นำมาไหว้ในเทศกาลตรุษจีน

ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ความก้าวหน้า และเกียรติยศ จึงต้องใช้ไก่ทั้งตัว ที่สมบูรณ์
เป็ด หมายถึง ความสามารถที่หลากหลาย
ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
หมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกิน เหลือใช้

ขนมมงคล สำหรับไว้ในเทศกาลตรุษจีน

ถั่วตัด หมายถึง เงิน
ขนมเข่ง ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญ
ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ หมายถึง ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
ซาลาเปา หมั่นโถว หมายถึง การห่อโชค
ขนมจันอับ หมายถึง ความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป

อาหารแห้ง และอื่นๆ

บะหมี่เส้นยาวๆ หมายถึง อายุยืนยาว
เม็ดบัว หมายถึง การมีลูกชายจำนวนมาก
สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ผาสุก

คำอวยพรเทศกาลตรุษจีน ความหมายมงคล

ในวันตรุษจีน ลูกหลานมักเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และมอบคำอวยพรความหมายมงคลทั้งเรื่องสุขภาพและความร่ำรวย แสดงถึงความกตัญญู คำอวยพรภาษาจีนมักจะเขียนเป็นกลอน 4 คำ 2 กลอน เมื่อนำมาเขียนเรียงกันจะประกอบด้วยอักษรจีนทั้งหมด 8 ตัว

1. ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย (新正如意 新年发财) แปลว่า คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี
2. ซินเหนียนไคว้เล่อ เซินถีเจี้ยนคัง (新年快乐 身体健康) ขอให้มีความสุขสมหวัง สุขภาพแข็งแรงตลอดปี
3. ว่านซื่อหรูอี้ ซินเสี่ยงซื่อเฉิง (万事如意 心想事成) ขอให้เรื่องต่างๆ ผ่านไปโดยอย่างราบรื่น คิดสิ่งใดก็ขอให้สมดั่งปรารถนา

คำอวยพรนี้นิยมเขียนอยู่ในป้ายมงคลสีแดงประดับบ้านเรือน หรือบนซองอั่งเปา เพื่อให้ผู้พบเห็นรู้สึกดีต่อกัน เพื่อเป็นการส่งต่อความรักความห่วงใย เพราะบางครอบครัวต้องห่างไกลกันไปทำหน้าที่ของตน และกลับมาเยี่ยมเยียนกันในเทศกาลตรุษจีนเป็นครั้งแรกของปี

“อั่งเปา” ต้องใส่เท่าไร ทำไมต้องเป็นซองแดง

การมอบ อั่งเปา เป็นซองสีแดงเป็นธรรมเนียมที่ชาวจีนนิยมมอบให้กันในเทศกาลตรุษจีน วันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงวันสำคัญต่างๆ การมอบอั่งเปาในวันตรุษจีนนั้นนิยมมอบให้กับเด็กๆ ที่กล่าวคำอวยพรให้แก่ผู้ใหญ่ เพื่อให้มีความสุข สุขภาพยืนยาว

ในอดีตเรียกว่า “แต๊ะเอีย” เพราะเงินสมัยก่อนเป็นรู ต้องร้อยด้วยเชือกสีแดง ผูกเอาไว้ที่เอว คำว่า “อั่งเปา” มีความหมายว่าซองสีแดง ปัจจุบันมักนิยมมอบ ธนบัตร เช็ก ทองคำ จึงต้องใส่ซอง และเงินที่ใส่ซองนั้นจะขึ้นต้นหรือมีเลข 4 หรือ 8 เพราะคล้องเสียงกับตัว “ฟา 发” ที่แปลว่ารุ่งโรจน์ ร่ำรวย เจริญยิ่งขึ้นไป

หลักการให้และรับซองอั่งเปานั้น ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายเตรียมเงินใส่ซองสีแดงไว้ให้แก่เด็กๆ และมอบให้กับลูกหลานในครอบครัว แต่หากบุตรหลานมีหน้าที่การงานแล้ว ก็เปลี่ยนจากผู้รับ เป็นผู้มอบ แล้วเด็กๆ ก็จะเป็นฝ่ายอวยพรเรา เฉกเช่นกับที่ปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมสืบมา

ส่วนบุตรหลานที่มีรายได้ และต้องการใส่ซองอั่งเปาเพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ ก็ทำได้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่เลี้ยงและดูแลเรามา ให้เรามีอนาคตที่ดี แสดงความกตัญญูเป็นมงคลเริ่มต้นปีใหม่ให้กับตัวเอง

ข้อห้ามในวันตรุษจีน

ความเชื่อที่สืบทอดกันมา บางครอบครัวยึดถือเพื่อไม่ให้ขัดต่อโชคลาภที่จะได้รับในปีใหม่นี้ จะต้องงดกิจกรรมที่มีความหมายไม่ดี เพื่อเชื่อว่าจะส่งผลไปตลอดทั้งปี แต่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลของแต่ละครอบครัว ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น

1. ห้ามกวาดบ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดโชคลาภออกไปจากบ้านจนหมด
2. ห้ามตัดผม สระผม ห้ามตัดเล็บ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำความมั่งคั่งออกไป
3. ห้ามใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ เพราะเป็นสีแห่งความเศร้าโศก จึงนิยมใส่สีแดง เพราะเป็นสีแห่งความสุข และโชคดี
4. ห้ามให้ยืมเงิน เพราะจะทำให้เสียทรัพย์ตลอดปี
5. ห้ามพูดจาไม่ดี หรือ ห้ามพูดคำหยาบ เพราะจะทำให้ครอบครัวทะเลาะกัน และนำพาแต่เรื่องวุ่นวายมาตลอดทั้งปี

วันตรุษจีนจะแบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันไหว้, วันจ่าย และวันเที่ยว ซึ่งปี 2565 ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อคุณได้ออกเดินทางไปยังตลาดรวมถึงการเดินทางไปพบญาติพี่น้องก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยของกรมควบคุมโรค ติดตามการประกาศพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เป็นปีที่นำพาสิ่งดีๆ และมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัย

ที่มา : scbeic.com

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง