บูชา หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก ศรัทธาพระอรหันตธาตุ




“เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระ บรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

ที่ทรงพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก

และ…บรรเทาปัญหา “อุทกภัย” ที่เกิดขึ้นประจำในลุ่มน้ำป่าสัก อันเป็นผลสืบเนื่องมายังเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลด้วย

ซึ่งนำความเดือดร้อนมาให้ราษฎรเกือบทุกปี

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนม พรรษาเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของกรม ชลประทานว่า…หากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบันก็สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งและขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้

จะ…ต้องก่อสร้าง “เขื่อน” ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2537 โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2537-2542 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานนามเขื่อนนี้ว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์”

อันหมายถึง…เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย” หรือ “หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก” เชื่อศรัทธากันเป็นอย่างยิ่งว่าหากใครได้มีโอกาสมากราบไหว้สักการะขอพรแล้ว จะเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว มีความโชคดีมีชัยในชีวิต จักคิดทำการสิ่งใดก็ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งยวด

องค์พระที่มีความยิ่งใหญ่สูงโดดเด่นน่าเลื่อมใสมีขนาดหน้าตักกว้าง 9.59 เมตร สูง 14 เมตร สูงจากพื้นดิน 24 เมตร ได้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและวัตถุมงคลไว้ใต้พระเกตุขององค์พระ

เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นที่สักการะของประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยทั่วกัน

คำบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ (ตั้งนะโมฯ 3 จบ) อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ

@@@@@@

พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรีบันทึกความเป็นมาอัตลักษณ์ สาระคุณค่าระบุว่า “พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย” หรือ “หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้ว พระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี

ความเป็นมาของ…“ปางมารวิชัย” ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมขล์ 150 โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธ พร้อมนำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามัวดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด

แต่…พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น “พญามาร” ยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ทรงกล่าวว่า รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน

แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ กรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น…“หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก” ตั้งอยู่บริเวณท้ายสันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ผู้เลื่อมใสศรัทธาสามารถเดินทางไปสักการะ โดยใช้บริการรถลากชมสันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

หรือเดินทางตามเส้นทางไปตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี อีกทางหนึ่งก็ได้เช่นกัน

@@@@@@

จากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยพบว่า มีงานวิจัยที่ศึกษาในพื้นที่ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” ไม่มากนัก แต่เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญให้แก่ผู้วิจัย ตัวอย่าง…คติชนสร้างสรรค์ในชุมชนพื้นที่โดยรอบเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ชุมชนตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ในแง่นิทานและเรื่องเล่าพื้นถิ่น

อาทิ ประเภทภูตผีปิศาจ และความเชื่อเรื่องพระธุดงค์ เรื่องเสือสมิงพระธุดงค์ ประเภทกฎแห่งกรรม…เรื่องกรรมทันตา…เรื่องกรรมตามสนอง นิทานสอนใจ…เรื่องสองเกลอ…เรื่องคนปากเสีย

ถัดมา…ชุมชนตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี “ความเชื่อพื้นถิ่น”…มีความเชื่อเรื่องการถือโชคลาง โหราศาสตร์ ภูตผีปิศาจ ไสยศาสตร์และความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

และยังมีความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีปอบ ผีพราย ผีกระสือ ผีตายโหง ผีปะกำ ผีนางไม้ ผีตะมอยและผีโรง และความเชื่อที่ว่า…เมื่อเสาบ้านมียางไม้ไหลออกมา จะเชื่อว่ามีผีสิงอยู่ภายในเสาต้นนั้น ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข เกิดอันตรายต่อผู้คนในบ้าน

ต้องแก้เคล็ด…ด้วยการทำพิธี “ตอกตะปูสะกดผี” ปัดเป่าให้ผีออกจากเสา

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดนี้คัดลอกมาจากงานวิจัย การใช้แนวคิดคติชนสร้างสรรค์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนโดยรอบเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ : ชนิตตา โชติช่วง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (ศิลปศาสตร์ปริทัศน์ 17 (1) มกราคม-มิถุนายน 2565)

นอกจากนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง “การเลี้ยงผี” ไว้โดยการปิดทอง คาดผ้าแดงและถวายพวงมาลัย “ผี”…ก็อาจให้คุณแก่ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านได้ สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต เช่น เมื่อเด็กอายุ 13-14 ปี จะมีพิธีตัดจุก ตัดแกละ หรือตัดเปีย โดยนิมนต์พระสงฆ์สวดชยันโตรดน้ำพุทธมนต์และเป็นผู้โกนผมให้

อีกทั้งประเพณีพื้นถิ่นก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ “ประเพณีศาลเจ้า”…ในเดือนมิถุนายนของทุกปี จะมีกิจกรรมที่ทำเพื่อเป็นการบูชาบรรพ บุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีน มีการประมูลสินค้า…เพื่อนำเงินการกุศลดังกล่าว มาเป็นกองทุนของศาลเจ้าในการจัดงานประเพณีแต่ละครั้ง

“ศรัทธา”…นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้…“ลบหลู่”.

รัก-ยม