“น้ำเปล่า” สำคัญกับชีวิตอย่างไร ทำไมเครื่องดื่มชนิดอื่นจึงทดแทนไม่ได้




“น้ำเปล่า” มีประโยชน์มากกว่าแค่การดื่มเพื่อดับกระหายคลายร้อน แต่หลายคนกลับมองข้ามแล้วไปดื่มน้ำอื่นๆ ที่ปรุงแต่งรสชาติเพื่อความอร่อยแทน ซึ่งการไม่ดื่มน้ำเปล่าเป็นเวลานานส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

น้ำเปล่า อะไรก็ทดแทนไม่ได้

แม้ว่าน้ำเปล่าจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เพราะไม่ชอบรสชาติที่จืดชืด โดยหันไปดื่มน้ำชนิดอื่นๆ ที่มีรสชาติหวานอร่อยแทน เช่น น้ำอัดลม ชานมไข่มุก ชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำหวานต่างๆ เพราะชื่นชอบในรสชาติ และคิดว่าสามารถทดแทนการดื่มน้ำเปล่าได้ เพราะร่างกายสามารถดูดซึมเฉพาะน้ำจึงไม่ได้ทำให้ร่างกายขาดน้ำ

แต่ความจริงแล้ว การดื่มน้ำที่มีรสชาติหวานเหล่านี้เป็นเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้มากกว่าที่คิด นอกจากความหวานจะทำให้อ้วนแล้ว ยังส่งผลให้เป็นโรคอื่นๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจ ความดัน โรคไต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะเลือดข้นเนื่องจากมีไขมันและน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปจนทำให้เส้นเลือดมีปัญหาจนส่งผลเส้นเลือดในสมองแตก หรือเส้นเลือดในสมองตีบได้อีกด้วย

ดังนั้นการดื่มน้ำเปล่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพของเราในระยะยาว สำหรับคนที่อยากได้น้ำที่มีรสชาติหวาน ควรเลือกเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล หรือใช้น้ำตาลเทียม หญ้าหวาน จะปลอดภัยกว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง แต่ก็ไม่ควรเลือกดื่มเพื่อทดแทนน้ำเปล่าเช่นกัน

น้ำเปล่า มีประโยชน์อย่างไร

เพราะร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบของถึง 70% หากเราขาดการดื่มน้ำเพียง 2-3 วัน ก็จะทำให้ร่างกายเราขาดน้ำและเสียชีวิตลงได้ ดังนั้นการดื่ม “น้ำเปล่า” จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

1. แก้ภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในหน้าร้อนร่างกายจะสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าปกติ

2. แก้ท้องผูก ช่วยระบาย การดื่มน้ำในตอนเช้าหลังตื่นนอนช่วยกำจัดไขมันตกค้างและกำจัดแบคทีเรียได้ดี

3. ช่วยในการย่อย โดยปกติลำไส้ของคนเราจะปล่อยน้ำเข้ามาทางลำไส้เพื่อช่วยย่อย ซึ่งถ้าเราดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการย่อยทำงานได้ดีขึ้น

4. ช่วยขับน้ำลาย น้ำเปล่าช่วยขับน้ำลาย ซึ่งน้ำลายก็จะช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก และกำจัดกลิ่นปากได้ด้วย

5. ป้องกันไข้หวัด ผู้ป่วยที่เป็นหวัดให้ดื่มน้ำอุ่นๆ ผสมมะนาว ดื่มหลังอาหารเย็นบ่อยๆ จะช่วยรักษาอาการหวัดให้ดีขึ้นได้

6. แก้ปากอักเสบ การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอช่วยแก้ร้อนใน ปากอักเสบ และแก้ฟันผุได้ เพราะไปกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ซึ่งน้ำลายก็ไปช่วยฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก

7. ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็ง น้ำเปล่าช่วยลำเลียงอาหารจากกระเพาะไปสู่ลำไส้ได้ง่าย ทำให้กระเพาะย่อยง่าย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระเพาะอาหาร และลดการเกิดแก๊สในท้อง รวมทั้งช่วยให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย

8. เสริมภูมิต้านทาน การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ทำให้การจับของภูมิต้านทานต่อผิวลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น จึงช่วยส่งเสริมภูมิต้านทานให้ลำไส้แข็งแรง

9. ช่วยให้ผิวพรรณสุขภาพดี ไม่เหี่ยวย่นง่าย เพราะน้ำจะคอยดูแลเซลล์ให้ลอยอยู่บนน้ำ และช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในร่างกายได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยเติมเต็มเนื้อเยื่อ ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น ดูเรียบเนียน มีน้ำมีนวล และดูอ่อนเยาว์

10. ดีต่อสมองและระบบประสาท เนื่องจากน้ำ คือส่วนประกอบสำคัญของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และสมอง การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยให้คลายเครียด ลดอาการปวดศีรษะได้ ถือเป็นการผ่อนคลาย และเพิ่มพลังให้กับสมองอีกทางหนึ่ง

ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างไรถึงเพียงพอ

ในแต่ละวันร่างกายเรามีการสูญเสียน้ำในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัสสาวะ เหงื่อ การหายใจ เราจึงจำเป็นต้องดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อทดแทนน้ำที่หายไป แม้ว่าโดยมาตรฐานแล้วการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว จะเพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย แต่ความจริงแล้วก็มีปัจจัยอื่นๆ เช่น กิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน เพศ และอายุ มีส่วนกำหนดความเหมาะสมต่อการดื่มน้ำในแต่ละวันด้วยเช่นกัน

ดังนั้นร่างกายของแต่ละคนจึงต้องการน้ำในนปริมาณที่แตกต่างกัน สามารถคำนวณได้โดยใช้สูตร น้ำหนัก x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ(มล.) เช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มล.คือปริมาณที่ควรดื่มต่อวัน ถ้าหากดื่มน้ำได้น้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการก็จะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายขับของเสียได้ยาก และเมื่อเลือดไหลเวียนไม่สะดวกก็ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด เลือดข้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้

เวลาไหนที่ควรดื่มน้ำเปล่า

  • ดื่มน้ำ 1 แก้ว หลังตื่นนอน ในเวลา 06.00 – 07.00 น. เพื่อช่วยลดภาวะขาดน้ำจากการนอนหลับ ลดความข้นหนืดของเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีและกระตุ้นการขับถ่าย
  • ดื่มน้ำ 1 แก้ว ช่วงเช้า เวลา 08.00 – 09.00 น. โดยดื่มน้ำก่อนมื้อเช้า 15 – 20 นาที แล้วค่อยกินมื้อเช้าเพราะถ้ากินอาหารและหลังอาหารให้จิบน้ำเพียงครึ่งแก้ว
  • ควรดื่มน้ำ 2 – 3 แก้ว ระหว่างวัน ในช่วงเวลา 09.00 – 13.00 น. โดยดื่มไปเรื่อยๆ เพื่อลดการสูญเสียน้ำในระหว่างวัน
  • ดื่มน้ำ 2 แก้ว ช่วงบ่ายและเย็น เวลา 13.00 – 17.00 น. จะช่วยแก้กระหาย และทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้น
  • ดื่มน้ำ 2 – 3 แก้ว ช่วงเย็นและก่อนนอน เวลา 18.00 – 22.00 น การดื่มน้ำช่วงเย็น ให้ดื่มก่อนและหลังกินมื้อเย็น
  • แบ่งบางส่วนไปดื่มช่วงก่อนนอน เพื่อช่วยชะล้างสิ่งตกค้างในลำไส้และป้องกันร่างกายขาดน้ำขณะนอนหลับ

ภาพกราฟิกโดย: Chonticha Pinijrob

อ้างอิงข้อมูล: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรว.), กรมอนามัย