ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ยังจำเป็นหรือไม่




โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งในตอนนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่มาแรงแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความกังวลใจให้ทุกคนไม่น้อย แต่ด้วยเนื่องจากอาการมีลักษณะคล้ายไข้หวัดมาก ฉะนั้น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็สำคัญไม่แพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่เปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี การฉีดวัคซีนจึงจำเป็นเสมอ และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน คัดกรองโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ไปในตัวด้วย

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันสายพันธุ์ใดบ้าง

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ จากสายพันธุ์ Northern Strain เป็นสายพันธุ์ Southern strain และมีการเปลี่ยนเชื้อไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนจาก 2 ใน 4 สายพันธุ์ ดังนี้

2021-2022 Northern Strain

– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria (H1N1)
– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Cambodia (H3N2)
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Washington
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket

2022 Southern Strain

– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria (H1N1)
– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Darwin (H3N2)
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket

ในประเทศไทย พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนทุกปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถฉีดซ้ำได้ภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

หลังจากได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัว 1-4 วัน จากนั้นจะเกิดอาการของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มักมีอาการสำคัญที่เด่นชัด เช่น

  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก
  • มีน้ำมูก และไอ

สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2564 ในประเทศไทย

ในประเทศไทย สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เมื่อปี 2564 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 27 ตุลาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศถึง 9,314 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 14.05 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และในกลุ่มจะพบผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันมากถึงร้อยละ 48 ที่อาจจะพบปอดบวม หรือสภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะในคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง และผู้สูงอายุ

ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  • เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลาย สามารถติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบหรือปอดบวม
  • หลอดเลือดอักเสบมากขึ้น เพิ่มโอกาสไขมันในเส้นเลือดแตกไปอุดตันเส้นเลือด จึงเพิ่มความเสี่ยงการกำเริบของหัวใจและหลอดเลือด
  • เกิดการอักเสบของหลอดลม ทำให้โรคปอด โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพองกำเริบจนมีอาการรุนแรงมากขึ้น
  • เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญ คนเป็นโรคเบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้อาการของเบาหวานรุนแรงขึ้น
  • ภาวะไข้สูง ร่างกายเกิดการเสียน้ำ ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ

ใครบ้าง? ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกัน

เพราะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจเกิดอาการรุนแรงหรือได้รับผลแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้สูง รวมถึงผู้ดูแลใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จึงได้แก่

  • เด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
  • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย โรคตับ มะเร็ง เบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่มี BMI มากกว่า 35 หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  • หญิงมีครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  • บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ
  • ผู้ที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และในประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 70 ถึง 90%
  • ลดการติดเชื้อในหูชั้นกลางในเด็กได้ 36%
  • ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี ได้ 60%
  • ลดอัตราการตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี ได้ 70 ถึง 80%
  • ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 79%
  • ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 56%
    ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 28%

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

  • ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 75%
  • ลดการเกิดภาวะของหัวใจและหลอดเลือดได้ 30%
  • ลดการเกิดภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ 24%
  • คลิกโปรแกรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ปี 2565

บทความโดย : โรงพยาบาลพญาไท 2