ที่มาสยามเมืองยิ้ม เมื่อเวลาผ่านไป ทำไมรอยยิ้มคนไทย เหือดหาย ไม่เป็นมิตร




ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่า “สยามเมืองยิ้ม” แต่เมื่อเวลาผ่านไปรอยยิ้มของผู้คน ดูเหมือนว่าจะค่อยๆ จางหายไป อาจด้วยหลายสาเหตุกระทบอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า และโรคระบาดโควิดในช่วง 2 ปีกว่า จะทำอย่างไรให้รอยยิ้มของคนในประเทศ หรือยิ้มสยาม กลับคืนมาเหมือนก่อน

ข้อมูลเพจ Southeast Asia Stats ของสิงคโปร์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำหลังเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คน จาก 100 กว่าประเทศ ตั้งแต่ ปี 2021-2022 ของ “Gallup Global Emotions Report” ชี้ว่าประเทศไทยแจกรอยยิ้มที่เป็นมิตรให้กับผู้คน อยู่ที่ 72% จากบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ที่ 90% กัมพูชา 89% ลาว 88% เวียดนาม 82% ฟิลิปปินส์ 81% มาเลเซีย 81% เมียนมา 77% สิงคโปร์ 76% และ ไทย 72% ซึ่งไม่ได้มีการจัดอันดับแต่อย่างใด

เป็นไปตามที่ “ไตรศุลี ไตรสรณกุล” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุจากการตรวจสอบต้นฉบับของ Gallup Global Emotions 2022 พบว่าไม่มีในรายงานแต่อย่างใดว่าแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคะแนนอยู่ที่เท่าใด และไม่มีการจัดอันดับประเทศไทยยิ้มให้ผู้คน เป็นอันดับ 9 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่มีรายงานข่าว

สยามเมืองยิ้ม จากการปั้นแต่ง ไม่ได้เกิดจากความจริงใจ

ปัจจุบันไม่ว่าคนไทยจะมีรอยยิ้มที่เป็นมิตรกับผู้คนที่พบเจอน้อยลงหรือไม่? แต่คำว่า “สยามเมืองยิ้ม” นั้นมีที่มาจากการบอกเล่าของ “ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต” ในฐานะผู้ค้นคว้าอิสระ ว่า มีจุดเริ่มในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้ในการโปรโมตการท่องเที่ยว จากก่อตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ทำให้ในยุคนั้นทุกคนมีรอยยิ้ม แม้ว่าสยามเมืองยิ้ม ไม่ได้เกิดจากความจริงใจ แต่เกิดจากการปั้นแต่ง หรือสร้างเฟกนิวส์ขึ้นมา เพื่อสร้างรอยยิ้ม ท่ามกลางการรัฐประหาร

อีกทั้งขณะนั้นประเทศเพื่อนบ้านของไทยกำลังรบราฆ่าฟันมีสงคราม ทั้งลาวและกัมพูชา ส่วนฟิลิปปินส์ ก็มีปัญหา บรูไนยังไม่ได้เอกราช และอินโดนีเซีย เพิ่งได้รับเอกราช ทำให้ประเทศไทย กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการท่องเที่ยวในช่วงปี 2500 จากการใช้อำนาจรวมศูนย์แบบเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์ จนถูกตั้งฉายายิ้มสยาม ในการสร้างจุดดึงดูดในการไปมาหาสู่ โดยเฉพาะการดึงเงินชาวอเมริกัน ให้เข้าประเทศ และเป็นยุคทหารอเมริกันยกพลขึ้นบก

“ในยุคนั้นคนไทยสุขปนทุกข์ เหมือนกับยุคนี้ เพราะไม่ว่าระบบอะไรก็ตาม ถ้าสามารถกระตุ้นกระเป๋าให้คนมีเงินได้ ก็มีรอยยิ้ม แต่ขณะนี้ทั่วโลกตึงเครียดท่ามกลางสงคราม เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้งโลก ทำให้คนยิ้มแบบฝืดๆ ข้าวสารก็ขายถูกลง ไม่ใช่ไทยไม่มีปัญหา แต่ต้องปั้นแต่งสร้างเฟกนิวส์ให้ทุกคนมีรอยยิ้ม เราต้องภูมิใจ แม้รอยยิ้มนั้น จะจริงบ้างไม่จริงบ้างก็ตาม ยกตัวอย่างหมอนวด เมื่อมีลูกค้า ก็ยิ้มได้แล้ว เพราะมีเงินไปใช้หนี้อาบัง หลังเจอโควิดมานาน”

รอยยิ้มคนไทยยุคหลัง เริ่มแปลกๆ ไม่เป็นมิตรต่อกัน

เมื่อหมดยุคจอมพลสฤษดิ์ และประเทศไทยผ่านมาในช่วง 10 ปีหลัง ได้มีบรรยากาศเริ่มไม่เป็นมิตรต่อกัน มีการหวาดระแวงจากความคิดสุดโต่งทางการเมืองของแต่ละคน โดยไม่ใช้หลักเหตุและผล ทั้งๆ ที่บางเรื่องควรแยกแยะ แม้ตัวละครตัวหนึ่งได้เป็นตัวแทนการถูกกระทำก็ตาม และบางคนเคยผ่านเหตุการณ์มาแล้ว จนมารู้สู้ไปก็ไม่ชนะ ทำให้รอยยิ้มของคนไทยขณะนี้ แม้จะยิ้มให้กันแต่อาจเป็นยิ้มสองหน้า ตามโลกที่เปลี่ยนไป หรือบางคนมีอาการโหยหิวแสง ทำให้มีรอยยิ้มแบบไม่จริง

“รอยยิ้มคนไทยเริ่มแปลกๆ มานาน ชอบผ่อนปรนให้ตัวเอง แต่ไปเข้มงวดกับคนอื่น ไปเรียกร้องโวยวายจะเอาประชานิยมเหมือนต่างประเทศ ทั้งๆ ที่แต่ละประเทศมีปริบทของเขา อย่างเกาหลีเหนือ หรือจีน แม้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่คนก็มีรอยยิ้ม สรุปแล้วคนไทยมีทุกข์ไม่มีรอยยิ้ม ก็เพราะความคิดตัวเองทั้งนั้น ทำไมไม่คิดหารอยยิ้มให้กับตัวเอง อย่าไปหมกหมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าผู้นำของไทยจะเป็นอย่างไร”

ที่ผ่านมาคนไทยได้สั่งสมความเกลียดชังมาอย่างต่อเนื่อง แบบเก็บเล็กผสมน้อย จนสร้างความเกลียดชังระหว่างคนไทยด้วยกัน จากคนที่สร้างความแตกแยกพูดเรื่องจริงไม่หมด จึงอยากให้คนไทยอยู่ให้เป็นเพื่อจะได้มีรอยยิ้ม เพราะทุกอย่างมีกาลเวลา ขึ้นอยู่กับคนรุ่นนั้นๆ จะรักษาอย่างไร และขึ้นอยู่กับปริบทของแต่ละประเทศ ควรหยิบภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาใช้ให้ถูก อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ได้นำวัฒนธรรมมาสร้างจุดขาย แม้ยุคนั้นถูกมองเป็นสายลมแสงแดด แต่มีมือทำงานที่ดี เช่น อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามจะทำให้ดี แต่ทำผิดที่ผิดเวลา จากทีมที่ปรึกษามีปัญหา

หากอยากเห็นรอยยิ้มคนไทย ทางรัฐบาลควรให้ทุกจังหวัดนำพิธีกรรมที่ถูกละเลยมานาน และเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมาสร้างความหลากหลายเพื่อเป็นจุดขาย จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้ง 12 เดือน ให้คนมาท่องเที่ยว เหมือนในยุคจอมพลสฤษดิ์ มีการเปิดกว้างในเรื่องวัฒนธรรม และในเวลาต่อมาได้มีการแต่งเพลงสยามเมืองยิ้ม ร้องโดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ

สยามเมืองยิ้ม และยิ้มสยาม ยังถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัน จากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แม้ความหมายตามที่นักเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้ ยังคงมีกลิ่นอายของการที่ฐานทัพสหรัฐอเมริกายกพลขึ้นบกมาไทย พร้อมกับภาพเทาๆ ของสถานท่องเที่ยวราตรีในพัทยา และเมียเช่าฝรั่ง เป็นจุดเริ่มลูกครึ่งในไทย เพราะความเป็นสยามเมืองยิ้ม เน้นรอยยิ้ม ชูความเป็นกันเอง และบริการเพื่อเอาใจลูกค้า.