ทบทวน…เราเจริญจริงหรือ




จนกระทั่งถึงปีนี้ 2022 มนุษย์เราทะนงตัวว่ามีความเจริญสูงสามารถสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย สร้างความสุขในชีวิต ปรนเปรอตนเอง ด้วยวิทยาการเทคโนโลยีมากมาย มีความสามารถในการรักษาโรค แต่ดูเหมือนกลับกลายเป็นการยืดชีวิตอย่างทรมาน

และขณะเดียวกันทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความสมดุลของระบบนิเวศ สร้างโลกร้อน มลพิษ ปรับแต่งจุลชีพ นัยว่าเพื่อการศึกษา แต่อาจเป็นภัยต่อมนุษยชาติหรือไม่

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อชะลอโรค รักษาโรค และการวินิจฉัยให้ได้รวดเร็วที่สุด แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงกระบวนการตั้งรับที่พยายามจะผ่อนคลายความเสียหายที่ตนเองได้สร้างขึ้นหรือไม่

ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดและเป็นปัญหาทั้งโลกในขณะนี้คือเรื่องสมองเสื่อม ความจำสั้น ซึ่งมากขึ้นอย่างเป็นทวีคูณและไม่ได้อธิบายจากการที่มีประชากรสูงวัยแต่อย่างเดียว แต่ประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนสัดส่วนที่เปราะบาง อมโรคตั้งแต่อ้วน เบาหวาน ความดันสูง โรคตับ โรคไต โรคหลอดลมและถุงลมอย่างมากมายและเกิดจากการสะสมของพฤติกรรมจมสุข สิ่งเอื้อเฟื้อความสะดวก ปรนเปรอด้วยอาหารที่คิดว่าดีนานาชนิด

สิ่งต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกายและในสมองร่วมกับมลพิษจากภายนอกทั้งน้ำ อาหาร พืชผักผลไม้ ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลงในระดับสูงน่ากลัว อีกทั้งมลพิษจากฝุ่นพิษจิ๋ว 2.5 เป็นต้น

บทพิสูจน์นี้มาจากคณะทำงานของผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Southern California และตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s and dementia) ในปี 2022 โดยแสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองในเขตโบลิเวีย อเมซอน ในอเมริกาใต้ มีโรคสมองเสื่อมน้อยที่สุดในโลก (ทั้งตั้งแต่อาการน้อยนิดจนถึงมาก) โดยที่กลุ่มชนนี้จัดเป็น forager-horticulturalists ที่เป็นชาวไร่ ชาวนา กลุ่มขนาดเล็กทำมาหากินตามธรรมชาติ ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารตามฤดูกาล ตามความต้องการที่จำเป็น และรวมกระทั่งเลี้ยงสัตว์สำหรับประโยชน์ในครอบครัวและในกลุ่ม (ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก cultural anthropology) เป็นเกษตรยั่งยืน ไม่ผลิตมากเกิน ไม่มีของเหลือ

ถ้ามีก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกัน และกัน (subsistence farming) ซึ่ง เป็นหลักการที่คนไทย รับทราบ แต่อาจไม่ได้ปฏิบัติ หรือไม่เคยคิดจะปฏิบัติคือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

ผลของการติดตามศึกษานี้ตอกย้ำความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเข้าใกล้ธรรมชาติ ทั้งการเพาะปลูกที่ทำเอง ลงมือลงไม้เอง เป็นการออกกำลังบริหารสุขภาพตามธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการเครื่องทุ่นแรงเพื่อให้ได้ผลิตผลเพื่อไปจำหน่ายเพื่อความร่ำรวย และเชื่อมโยงไปถึงลักษณะของอาหารการกินที่เป็นพืชผักผลไม้ไม่เจือปนด้วยสารเคมี ตกปลา ล่าสัตว์ เท่าที่จำเป็น

และจากการคงอยู่สภาพของระบบนิเวศทำให้สามารถตรึง ไม่ให้มีการพัฒนาของเชื้อโรค ซึ่งแปรตามมลภาวะของสิ่งแวดล้อม และนอกจากนั้นมีความสันโดษ ไม่ได้เจือปนด้วยวัฒนธรรมหรืออารยธรรมเทคโนโลยีก้าวหน้าต่างๆ

ในกลุ่มชน Tsimane และ Moseten ที่สูงอายุจะมีสมองเสื่อมเพียงแค่ 1% ซึ่งคนในประเทศสหรัฐฯอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีสมองเสื่อมอย่างน้อย 11% และเมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม Tsimane 17,000 ราย ซึ่งใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติและกินอาหารจากการลงแรงในป่า กับกลุ่ม Moseten 3,000 ราย ซึ่งถึงแม้จะมีการทำเกษตรพอเพียง แต่มีการใกล้ชิดรวมกลุ่มกันเป็นหมู่บ้านและมีการติดต่อเชื่อมโยงกับโลก หรืออารยธรรมภายนอก ทั้งนี้อาจมีข้อสงสัยว่ากลุ่มชนนี้อาจจะอายุสั้น ดังนั้น จึงเห็นว่ามีสมองเสื่อมน้อยซึ่งไม่เป็นความจริง ทั้งนี้จากการติดตามกลุ่มชนนี้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปก็ไม่ได้พบว่ามีสมองเสื่อมมากขึ้น

การศึกษาเป็นระยะยาวนานเป็น 10 ปีนี้มีการประเมินด้วยการทดสอบพุทธิปัญญาของสมองด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน รวมกระทั่งถึงมีการทำคอมพิวเตอร์สมอง ทั้งนี้การทดสอบทำด้วยคณะที่พูดภาษาพื้นเมืองและเข้าใจขนบ ธรรมเนียมประเพณีในกลุ่มชนนี้อย่างดี

ลักษณะของการดำรงตนแบบธรรมชาติเป็นชนพื้นเมืองยังพบได้ทั้งในประเทศออสเตรเลีย ในทวีปอเมริกาเหนือ ในเขตกวมและบราซิล โดยที่มีการรายงานวิเคราะห์ทบทวนไม่ต่ำกว่า 15 การศึกษา โดยพบว่าจะพบสมองเสื่อมตั้งแต่ 0.5% จนกระทั่งถึง 20% แต่ทั้งนี้รายงานก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการวิเคราะห์เจาะลึกถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอารยธรรมและการใช้ชีวิตนอกกลุ่มโดยมีความทันสมัยขึ้น

และนอกจากนั้นยังพบว่ามีโรคเบาหวาน ความดัน อ้วน และโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและเส้นเลือดทั่วร่างกาย รวมกระทั่งถึงหัวใจเต้นผิดปกติมากและมีการดื่มสุรามากมาย

ซึ่งปัจจัยข้างต้นเหล่านี้จะพบน้อยมากจนกระทั่งไม่มีเลยในกลุ่มของการศึกษาที่รายงานนี้ และในรายงานก่อนหน้านี้ในวารสาร แลนเซท

กลุ่มชน Tsimane จะมีสภาพของหัวใจระบบเลือดดีเป็นพิเศษอย่างน่าแปลกใจในผู้สูงอายุ และรวมกระทั่งการที่มีหัวใจเต้นผิดปกติแบบระริก หรือ AF atrial fibrillation ซึ่งส่งผลทำให้เกิดลิ่มเลือดในช่องหัวใจและหลุดลอยไปอุดเส้นเลือดต่างๆ ทั้งในสมองและทั่วร่างกาย และอีกทั้งยังพบว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบน้อยกว่าคนทั่วๆไป และแน่นอนก็คือมีสมองฝ่อเหี่ยวน้อยกว่า

ที่กล่าวมาทั้งหมดในบทนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติทั้งตัวหมอเองและพวกเราว่าแท้ที่จริงแล้วเราเจริญจริงหรือไม่ เราคิดว่าเราอาจจะมีความเก่งกล้าสามารถทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิทยาการมากมาย แต่คงจะเป็นสิ่งที่พัฒนามาเพื่อผ่อนคลายหรือบรรเทาสิ่งที่ได้ทำลายสะสมมาตลอด

คนที่มีโรคต่างๆอยู่แล้วแม้จะได้อานิสงส์จากเทคโนโลยีก้าวหน้าเหล่านี้ แต่ควรต้องไม่ลืมว่าการปรับตัวเข้าหาธรรมชาติให้ได้มากที่สุดน่าจะทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีคุณค่า ไม่ทรมานต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อผู้เป็นที่รัก.

หมอดื้อ