ชันสูตรปริมาณปัสสาวะในร่างกาย หาความจริงจากหลักนิติวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร




การชันสูตรปริมาณปัสสาวะในร่างของผู้เสียชีวิต ด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ อาจเป็นหนทางหนึ่งในเบื้องต้นเพื่อหาค้นความจริงในหลายกรณี รวมถึงเหตุการณ์ที่แตงโม นิดา พลัดตกเรือสปีดโบ๊ต กลางแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ. และพบร่างของแตงโม นิดา เมื่อบ่ายวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านี้มีคำให้การจากบุคคลที่อยู่ในเรือสปีดโบ๊ตบางคนในวันเกิดเหตุว่า ก่อนเกิดเหตุเศร้าสะเทือนใจนั้น แตงโม นิดา ได้เดินไปท้ายเรือเพื่อปัสสาวะ ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เรื่องราวข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่

ชันสูตรปริมาณปัสสาวะด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์

แหล่งข่าวจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อธิบายถึงหลักวิชาการในการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากสาเหตุใด สามารถตรวจได้ว่าในร่างกายของคนนั้นมีปริมาณปัสสาวะอยู่เท่าไร และบ่งบอกได้ว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียชีวิตมีอาการปวดปัสสาวะ และได้ปัสสาวะออกไปแล้วหรือยัง

“โดยปกติร่างของผู้เสียชีวิตทั่วไป จะมีปัสสาวะหลงเหลืออยู่ ในระดับประมาณ 20-300 ซีซี และไม่ว่าจะเหลืออยู่แค่ไหน จะสามารถตรวจสารต่างๆ ที่อยู่ในปัสสาวะได้”

นี่คือหลักการเบื้องต้น ในการชันสูตรปริมาณปัสสาวะด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่แหล่งข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า หากก่อนเสียชีวิตมีอาการปวดปัสสาวะ และยังไม่ได้ถ่ายออก โดยทั่วไปจะมีปริมาณประมาณ 300 ซีซี แต่หากมีการถ่ายออกแล้ว ก็จะเหลือปริมาณลดลง และแม้จะถ่ายออก จนรู้สึกหมดแล้ว ก็จะยังคงเหลือปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะอย่างแน่นอน ประเด็นนี้ต้องรอผลการชันสูตร จึงจะทราบผลที่ชัดเจนต่อไป

สำหรับปริมาณหน่วยวัดเป็นซีซี มีมากแค่ไหนนั้น ซีซี หรือลูกบาศก์เซนติเมตร (Cubic Centimeters) 1 ซีซีเทียบเท่ากับ 1 มิลลิลิตร ปริมาณ 300 ซีซี จะมีปริมาณมากกว่านมกล่อง 1 กล่องเล็กน้อย โดยปกตินมกล่องมาตรฐานมีขนาด 250 ซีซี ส่วน 20 ซีซี จะมีปริมาณเพียงประมาณ 4 ช้อนชาที่ตวงยาน้ำ (ช้อนชาละ 5 ซีซี)