จะเรียกชื่อใด ก็เรียกเถิดพ่อ (ภาค 1)




เมื่อสมัยที่ผมยังเด็ก ก็เติบโตมากับการอ่านสารานุกรมมากมายที่มีอยู่ที่บ้าน ชุดสารานุกรมหนึ่งที่ผมว่าคนวัย 40 +/- น่าจะจำกันได้คือชุด “รู้รอบตัวแสนสนุก” ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะเป็นการ์ตูนความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ที่เอามาแปลงคำพูดเป็นภาษาไทย เปลี่ยนชื่อตัวละครเป็นไทย และบางเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทยก็จะถูกวาดขึ้นโดยน้า เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนชื่อดังชาวศรีสะเกษ รวมเข้าไปกับเนื้อหาจากฝั่งญี่ปุ่นด้วย ซึ่งในสารานุกรมชุดนี้ จะมีเล่มที่ 6 “ความมหัศจรรย์ของรถยนต์”

ไอ้เล่มนี้..บวกกับหนังสือกรังด์ปรีซ์ ยานยนต์ ที่น้าชายผมชอบซื้อมาอ่านแล้วลืมทิ้งไว้ที่บ้านผมนั่นละครับ นำพาผมให้มาชอบรถยนต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่เพราะเนื้อหาใน “ความมหัศจรรย์ของรถยนต์” ทำให้เด็ก 7 ขวบหน้าตาหน้าถีบคนนึง รู้ว่าเครื่องยนต์เบนซิน ใช้หัวเทียนจุดระเบิด เครื่องยนต์ดีเซลใช้การอัดให้น้ำมันกับอากาศร้อนในลูกสูบแล้วค่อยบึ้ม ที่สำคัญคือมันเป็นหนังสือเล่มแรกที่สอนผมระบุประเภทตัวถังรถ

ในช่วงยุค 80s ตอนต้น รถยนต์มีตัวถังไม่กี่แบบ ที่ง่ายโคตรสำหรับเด็ก ป. 3 ในการจำ..อะไรที่มี 4 ประตู เขาเรียกซีดาน อะไรที่มีสองประตูแล้วทรงไม่ได้เปรี้ยวปัสสาวะราดนัก ก็เป็นพวกคูเป้ ถ้าทรงเฉี่ยวๆ หน่อยก็เป็นรถสปอร์ต หรือซูเปอร์คาร์ ถ้าเหมือนซีดานแต่มีท้ายยาวออกมาใส่ของได้เยอะ เรียกว่าสเตชั่นแวก้อน ถ้ารถเปิดหลังคาได้ ก็คือรถเปิดประทุน ถ้าเปิดเฉพาะตรงกลางหลังคา เรียกว่า ทาร์ก้า นอกจากนี้ก็จะเป็นพวกรถปิกอัพ หรือรถตรวจการณ์ที่ในช่วงเวลานั้นยังคลุมเครือในรูปแบบ..ถามว่าไอ้ทั้งหมดนี้มันมาจากสารานุกรมสำหรับเด็กจริงเหรอ..จริงจ้ะ..ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองหาซื้อหนังสือเก่ามาสิครับ ถ้าคุณรับได้กับ 300-600 บาทสำหรับหนังสือเด็กจากยุคลุงยุคพ่อ

กดปุ่ม Forward มาราว 30 ปี ผมว่าคนเขียนตำราเล่มนั้นมาเจอยุคนี้จะปวดหัว เพราะรูปแบบของตัวถังรถมีการขยายจำนวนเพิ่ม โดยเกิดจากการผสมพันธุ์ของบอดี้รถ 2 หรือ 3 แบบ เกิดจากความต้องการผลักดันในเชิงการตลาดของบริษัทรถหรือปัจจัยอื่นๆ เรื่องนี้ คนที่ไม่ได้อยู่วงการรถเลยจะบอกว่า “Chill” เพราะไม่ได้เดือดร้อนอะไรด้วย แต่คนที่อยู่ในวงการนี่เคยเถียงกันจนแทบไม่มองหน้ากันมาแล้วว่า…ไอ้รถรุ่นใหม่ที่ออกมาคันนึงเนี่ย จะจัดเป็นประเภทอะไร

หนึ่งในรถที่โดนจับผสมแปลงพันธุกรรมมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น SUV (Sport Utility Vehicle) หรือจะเรียกว่ารถตรวจการณ์ หรือบางคนก็เรียกว่ารถอเนกประสงค์ (ซึ่งผมจะไม่ค่อยได้ยินหลานๆ อายุ 2x-3x ปีเรียกแบบนี้)

การเอารถบรรทุก รถขับเคลื่อน 4 ล้อ มาบวกกับส่วนห้องโดยสารของรถยนต์นั่งนั้น แท้จริงแล้วมีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่ได้รับความนิยมเพราะไม่รู้จะไปขายใคร และถึงมีคนสั่ง ต้นทุนในการสร้างก็แพงมาก ต้องรอมาจนยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูหลังสงครามจบ วิศวกรจึงมีเวลาว่างมากพอที่จะสร้างรถกึ่งหรูกึ่งลุยออกมามากขึ้น รถอย่าง Jeep Wagoneer ก็เกิดจากการผสมตัวถังสเตชั่นแวก้อนเข้ากับแชสซียกสูงและระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่รถยนต์รุ่นแรกเลยที่มีการนำคำว่า “SUV” มาใช้ในการโฆษณาคือ Jeep Cherokee SJ ปี 1974 แต่กลายเป็นว่า เมื่อพูดถึงรถที่บัญญัตินิยามความเป็น SUV ในใจคนส่วนมาก มันกลับเป็น Cherokee เจเนอเรชั่นถัดมา (1984)

หลังจากรัฐบาลอานันท์ ปรับลดกำแพงภาษีรถนำเข้าในช่วงต้นยุค 90s รถประกอบนอกที่เคยราคาสิบล้าน ก็ลดมาเหลือ 2-3 ล้านบาท กระแส SUV BOOM ในไทยก็เริ่มขึ้น Mitsubishi นำ Pajero มาขาย (โดยก่อนหน้านั้นก็มีการเอารุ่นเก่าที่ญี่ปุ่นเลิกขายไปแล้วมาชิมลางด้วย) รถ MMC นำเข้าเองจะมีเครื่อง V6 3.0 และ 3.5 ลิตร ส่วนรถเกรย์จะมีรุ่น 2.8 ดีเซลเทอร์โบด้วย ส่วน Toyota ก็มีรถอย่าง Land Cruiser VX80 ตัวใหญ่ มีการ์ดโครงหน้า และบางคันคาดสติกเกอร์ลายภูเขาด้านข้างอย่างเก๋ ข้างนอกน่ะโหด แต่ข้างในคุณสบายด้วยเบาะหนังปรับไฟฟ้า แอร์ออโต้ ครูสคอนโทรล และเครื่องเสียง 2 DIN กินแผ่นเก่งสไตล์ Toyota

ประเด็นก็คือ ถ้าเรามองไปที่จุดเริ่มต้นของรถ SUV ในยุคนั้น ไม่ว่าเน้นหรูหรือเน้นลุย จะเห็นลักษณะร่วมที่สำคัญได้ก็คือ SUV เป็นรถที่มีส่วนท้ายเป็นกล่อง จะมีหรือไม่มีที่นั่งแถวสามไม่สำคัญ แต่ต้องเอื้ออำนวยต่อการขนสัมภาระไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารถสเตชั่นแวก้อน คาแรกเตอร์สำคัญอีกอย่างคือ มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีศักยภาพที่จะไปในถนนที่รถเก๋งทั่วไปเข้าไม่ถึง (หรืออย่างน้อย ถ้าไม่มีขับสี่ ก็ต้องมีใต้ท้องสูงกว่ารถปกติแบบชัดเจน) และมีโครงสร้างตัวถังเป็นแบบ Chassis on frame เหมือนรถกระบะ คือมีโครงสร้างหลักเหมือนกระดูกสันหลัง แล้วเอาส่วนบอดี้รถวางครอบลงไป

เพียงราว 4-5 ปีหลังจากนั้น นิยามของ SUV ก็ได้รับการ “อัปเดต” ให้รวมรถที่ใช้โครงสร้างแบบโมโนค็อก (ตัวถังแบบชิ้นเดียวไม่ต้องมีโครงเฟรม) เพราะความขายดีทั่วโลกของรถอย่าง Honda CR-V ซึ่งตัวเล็กนิดเดียวแต่ภายในกว้างขวางกว่า Cherokee และมีความเป็นรถเก๋งมากเหมือน Honda Civic ไปพลอดรักกับ SUV สักรุ่นแหละ.แล้วก็มีผลิตผลออกมาเป็น CR-V ซึ่งในไทยนั้นขายดีจนวิ่งทุกมุมเมือง พวกชาว SUV จะชอบบูลลี่คนขับ CR-V ว่าขับ SUV เก๊บ้าง..เรือนร่างบอบบางจังครับน้อง..ระบบขับสี่ก็เก๊ครับเพราะสั่งบังคับให้ล็อกเพลาตลอดเวลาไม่ได้ แล้วดูเพลาข้างนั้นสิกระแทกหินเบาๆ คงงอเลยมั้ง…ฮ่า…Honda บอกแล้วไงครับ ผ่านไป 1 เจเนอเรชั่นเอ็งกล้านับจำนวนรถแข่งกับข้าหรือเปล่าล่ะวะ ใครจะมองยังไงก็ช่าง แต่เงื่อนไขของการเป็น SUV ก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แค่ Honda นะครับ ดู Subaru Forester Gen. 1 ด้วยก็ได้ คุณยกเปลือกนอกมันออก วิศวกรรมที่เหลือแทบจะมาจากเก๋ง Subaru Impreza ทั้งนั้น

ข้ามทศวรรษมาก็เริ่มมีคำว่า “ครอสโอเวอร์” ปรากฏในสื่อฯ รถมากขึ้น ซึ่งในคำว่า Cross นี้มีความหมายแท้จริงว่า “ข้ามรูปแบบข้ามสายพันธุ์” ไม่ใช่ Cross ที่ให้คุณปีนข้ามภูเขาลำธาร โถ..เอ็งปีนข้ามลูกระนาดเลวทรามในกทม.ได้พี่ก็ขอบพระคุณแล้ว

ครอสโอเวอร์รุ่นแรกๆ ที่ผมได้ยินคนพูดถึงสมัยปี 2005-2006 ก็คือ Infiniti FX ซึ่งถ้าคุณลองค้นดูในรูปจะเห็นได้ว่ามันเหมือน SUV บวกกับรถเก๋งแฮตช์แบ็ค เพราะแนวหลังคาลาดด้านท้ายนั้นดูแล้วไม่น่าจะเน้นความอเนกประสงค์หรือการบรรทุกใดๆ พอคำนี้เริ่มมีใช้มากขึ้น รถที่เกิดมาก่อนอย่าง Toyota Harrier ที่ท้ายลาดมากๆ หรือกระทั่ง Impreza รุ่น Outback Sport ที่เกิดจากการเอารุ่นแวก้อนท้ายโคตรสั้นมายกสูงจนน้องๆ SUV ก็ได้ถูกจัดเป็นรถประเภทนี้ไปด้วย ลามไปจนถึง SUV ตัวกล่องๆ เหลี่ยมๆ อย่าง CR-V เช่นกัน ไอ้อย่างหลังนี้ พวกฝรั่งเขาบอกว่ามันเป็นครอสโอเวอร์ เพราะมีความข้ามรูปแบบระหว่างรถเก๋งกับรถ SUV ..ก็แล้วแต่คนจะเลือกเชื่อครับ ส่วนตัวผมมีวิธีจำแนกของตัวเองโดยดูจากการเน้นความจุด้านท้ายของรถ กับเส้นสายตัวรถ เอาง่ายๆ คุณดู Subaru นะ นั่นคือค่ายที่เล่นครบทุกอย่าง Forester มีความเป็น SUV มากที่สุด ในขณะที่ Subaru XV นั้นมีความเป็นครอสโอเวอร์มาก (เพราะบอดี้เกือบทั้งหมดคือ Impreza Hatchback ที่นำมายกสูง) และ Subaru Outback ที่เกิดจากการนำ Legacy สเตชั่นแวก้อน มายกสูงน้องๆ SUV

ในความเห็นผม SUV ควรจะต้องมีความอเนกประสงค์ครับ โดยเฉพาะในแง่การบรรทุกสัมภาระ เพราะคำว่า SPORT UTILITY ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้งานที่หลากหลาย Forester นี่คือ SUV แน่ๆในขณะที่ XV นั้นผมไม่เคยเรียกว่าเป็น SUV เลยสักครั้ง..เอ้า ถ้าเรียกอย่างนั้น แล้วผมเรียก Impreza Hatchback ว่า SUV โหลดเตี้ยจะผิดไหม..Im บอก ตูขับสี่นะเว้ย

บางทีผมอยากเอาเวลาในชีวิตไปคุยกับเด็กๆ มากกว่านั่งเถียงกับใครหลายคน เวลาเขียนถึง ผมเลยใช้คำว่า SUV/ครอสโอเวอร์แล้วจบๆไป ให้รู้ว่ามันคือรถพวกนี้แล้วกัน เพราะรถบางรุ่นมันก็อยู่ในเขตที่โคตรเทา อย่าง Mazda CX-5 และ CX-8 เป็นต้น หลังคาเหมือนรถเก๋งมาก แต่อย่าง CX-8 นี่นั่ง 6-7 คนได้ด้วย

และท้ายสุด ถ้าคุณคิดว่า SUV ยังแตกแขนงสาขาไม่มากพอ..Let me introduce you to…a Coupe SUV!

ซึ่งคนที่ใช้คำว่า Coupe กับรถแบบนี้เป็นเจ้าแรก ถ้าผมจำไม่ผิดคือ BMW ในรุ่น X6 ซึ่งก็โผล่มาบนโลกในเวลาใกล้ๆ กันกับ Infiniti FX นั่นละ แต่ค่ายหลังนี้เขาขายความเป็นครอสโอเวอร์มากกว่า นี่คือรถแบบที่ผมงงว่ามันเกิดมาได้ยังไง นี่คือรถแบบที่ให้คุณได้การใช้งานแบบ SUV จริงๆ…โดยที่ตัดเฉือนเนื้อที่เหนือศีรษะของคนนั่งหลังออก ลดทอนพื้นที่จุสัมภาระด้านท้ายลง เพื่อแลกกับเส้นสายแบบรถคูเป้ที่ทำยังไงๆ ก็ดูแล้วไม่นึกถึงรถคูเป้ เวลาคุณมอง X6 แล้วคุณนึกถึง BMW 6 Series สักนิดไหม ก็คงไม่ แล้วพอผมจะหันไปทาง Mercedes-Benz แล้วบอกว่า ไม่เอา ไม่ทำ…Let me introduce you to GLE Coupe! แล้วก็สารพัดจะตามกันออกมา X4, GLC Coupe แม้กระทั่ง Porsche ก็มี Cayenne Coupe ซึ่งรถทั้งหมดนี้ ผมชื่นชอบการขับ แต่ไม่เคยชอบรูปทรง จะมีก็แต่เพียง Audi Q8 ที่นับเป็น Coupe SUV แล้วผมยังแฮปปี้ที่จะมองมัน

ไม่ว่าจะมองยังไง รถพวกนี้มันคือ SUV พื้นฐานเก๋งนั่นล่ะ แค่หลังคาลาดหน่อย อยากจะเรียกว่า Coupe เหรอ โอเค คุณอยากเห็น SUV Coupe ของจริง ลองนี่เลยครับ AMC Eagle SX/4 ถ้าคุณจะทำจริงๆ ลองทำให้มันได้อย่างนี้ แต่ทำแล้วคนซื้อไหม ฮ่า ..ถามว่ากี่คนดีกว่ารู้จักรถรุ่นนี้

ดังนั้น ในเรื่องของการระบุชื่อประเภทรถน่ะ แค่พูดว่า SUV คุณก็ได้ความหมายกว้างเท่าแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว ใครจะเรียกว่าอะไร ท้ายสุดก็เรียกไปเถอะ ตราบใดก็ตามที่คุณมั่นใจคุณเลือกคำมาใช้แล้วบุคคลที่รับฟังคุณ เขาเข้าใจว่าคุณกำลังพูดถึงอะไรอยู่ เหมือนกับคำว่า ฟุตปาธ ที่เรามานั่งเถียงกันอยู่นานว่า เขียน ฟุตบาท หรือ ฟุตปาธ…บาตรวิถี หรือบาทวิถี ทั้งๆ ที่เอ็งเรียกว่า “ทางเท้า” แล้วแยกย้ายกันไปกิน Air-X ก็จบหรือเปล่าว้า นั่นคือสาเหตุที่บางทีผมต้องเขียนคำพื้นๆ เช่น SUV พื้นฐานเก๋ง SUV พื้นฐานกระบะ SUV หลังคาเตี้ย ซึ่งหลายคนบอกเวลาเขียนแบบนี้ผมดูโง่ จะบอกว่าคำผมไม่ได้เก๋ แต่อย่างน้อยคนอ่านเข้าใจเด้อครับ.

Pan Paitoonpong