คุยกับทีมนักพัฒนา Politimate เกมตามหาผู้ว่าฯ กทม. ในดวงใจ ด้วยนโยบายที่ตรงกัน




ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญอีกวันหนึ่งของวงการการเมือง ในด้านหนึ่งเป็นวันที่ครบรอบการเกิดรัฐประหารปี 2557 แต่ในวันเดียวกันนี้ ก็จะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

คุณจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่ากทม.หรือไม่

Vote

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เรามักจะได้เห็นเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ จากสรรค์สร้างทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการรายงานผลคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง การถ่ายทอดสดการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน ไปจนถึงระบบที่ทำให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงสามารถรู้จักหน้าค่าตาของผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการ กทม. แบบชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นั่นคือ เกมที่มีชื่อว่า Politimate

Politimate เป็นผลงานที่พัฒนาโดย Opendream บริษัทด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งให้ความสนใจด้านสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

Politimate มีแนวคิดที่อยากทราบและเรียนรู้ไปกับผู้เล่นเกมนี้ว่า คนที่เข้ามาเล่น ได้จัดวางลำดับความสำคัญกับนโยบายใดของแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. มากที่สุด โดยเรียงจากมากไปน้อย ผ่านการทำแบบทดสอบจำนวน 20 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อจะมีนโยบายสองนโยบายถูกจับมาปะทะกัน (Battle) เช่น นโยบายด้านบริการสาธารณะ ปะทะกับ นโยบายด้านความโปร่งใส เพื่อให้ผู้เล่นทำการเลือกตัวเลือกว่าเห็นนโยบายใดสำคัญกว่ากัน

แม้ว่าในขณะที่ทำแบบทดสอบผ่านเกมของ Politimate มีหลายครั้งที่ผู้เล่นอาจรู้สึกว่า ข้อนี้เหมือนผ่านตามาแล้ว นั่นเป็นเพราะว่า อัลกอริทึมที่ทำงานอยู่เบื้องหลังของเกมต้องการให้ผู้เล่นได้มีโอกาสเทียบกับทุกๆ นโยบายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดการ Battle กันมากที่สุด

ปะทะกันของสองนโยบาย

ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย A เทียบกับนโยบาย B ผู้เล่นชอบนโยบายใดมากกว่ากัน ถ้าหากชอบ B ก็นำนโยบาย B ไปเทียบกับนโยบาย C แต่เมื่อเทียบกันแล้วชอบนโยบาย C มากกว่า ก็จะถูกนำไปเทียบกับนโยบาย A เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดที่ผู้เล่นแต่ละคนนั้นให้ความสำคัญกับนโยบายใดๆ ของแคนดิเดตการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นต้น

เก่ง–ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้ง Opendream เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะออกมาเป็นการเปรียบเทียบความสำคัญของนโยบาย ผ่านคำถามจำนวน 20 คำถาม พวกเขาได้จัดทำระบบที่มีอินเตอร์เฟสแบบเดียวกับที่ผู้เล่นเข้าไปเล่นผ่านหน้าเว็บไซต์ https://politimate.vote62.com/q/1/ โดยให้แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนเข้าไปเล่น ทดลองทำแบบทดสอบ ซึ่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะเล่นกี่ครั้งก็ได้ เมื่อเล่นจบ ก็ได้จะข้อสรุปว่า ตามแนวคิดของผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนให้ความสนใจเรื่องไหนมากเป็นพิเศษ เพื่อนำเป็นฐานข้อมูลเทียบกับผู้เล่นคนอื่นๆ ต่อไป

“อธิบายโดยสรุปก็คือว่า ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จาก Politimate ของผู้เล่นจะถูกเปรียบเทียบจากการทำแบบสอบถามของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.” ปฏิพัทธ์ กล่าว

ปฏิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริง การเทียบความสำคัญของนโยบายผ่านคำถาม 20 คำถามของ Politimate ถือว่าเป็นตัวเลขที่ออกจะน้อยไปสักหน่อย

“เพื่อให้ทุกนโยบายมีโอกาสถูกนำมา Battle มากที่สุด ในช่วงแรกของการพัฒนาเกม Politimate ผมได้ทดลองให้มีการเทียบนโยบายผ่านคำถามถึง 30 คำถาม แต่ก็พบว่า มันเยอะเกินไป ผู้เล่นเหนื่อยล้าแน่ๆ แต่ถ้าลดลงให้เหลือ 10 คำถามก็จะน้อยลงไปอีก การ Battle กันของนโยบายตามแนวคิดของเกมก็จะไม่ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบ ดังนั้น ตัวเลขที่ถูกหยิบมาในท้ายที่สุดก็คือ 20 คำถาม”

เขากล่าวต่อไปว่า Politimate ที่เห็นในตอนนี้เป็นเฟสแรก แต่ในวันนี้ (18 พฤษภาคม) ได้มีภาคต่อของ Politimate ออกมา ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็น Politimate 2 ให้ผู้เล่นได้มีโอกาสทดลองเทใจว่า ถ้าหากมีงบประมาณก้อนหนึ่ง อยากนำเงินไปพัฒนากทม. ในส่วนใดบ้าง ซึ่งสามารถเข้าไปเล่นได้ที่ https://politimate.vote62.com/q/3/

“ในภาคแรกเป็นการเปรียบเทียบนโยบายสองนโยบายเข้ากันว่าให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากกว่ากัน แต่ในภาคที่สองจะขยายว่า ถ้าหากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีงบประมาณก้อนหนึ่ง ให้ผู้สมัครฯ นำไปใส่ว่า จะให้ใจกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ เช่น เรื่องของทางเท้า สตรีทฟู้ด หรือขนส่ง ซึ่งมีความละเอียดมากกว่า Politimate ภาคแรก”

อยากเห็นการใช้งบแบบใดมากที่สุด

ส่วนเสียงตอบรับเสียงตอบรับจากผู้เล่นเกม Politimate มีสองแบบ แบบแรก ผู้เล่นบางส่วนรู้สึกโกรธ เพราะว่าผลลัพธ์ไม่ตรงกับคนที่ผู้เล่นเกมคนนั้นอยากสนับสนุนให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจากดาต้าที่อยู่ด้านหลังของระบบ พบว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน จะมีกลุ่มของนโยบายที่ใกล้เคียง และเกาะกลุ่มกัน เช่น แคนดิเดต A ให้ความสนใจกับชีวิตคนเมือง ซึ่งอาจเป็นนโยบายที่ตรงกับแคนดิเดต B แต่ในเวลาเดียวกัน แคนดิเดต C สนใจในด้านความเท่าเทียม ก็อาจไปตรงกับแคนดิเดต E เป็นต้น

แบบที่สอง ผู้เล่นได้เจอกับแคนดิเดตที่ตัวเองไม่รู้จัก ซึ่งในฐานะคนพัฒนาเกม Politimate ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และตรงกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเกมนี้ขึ้นมา

“เพราะแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ที่ไม่ดัง หรือไม่มีชื่อเสียงมากนัก ก็จะไม่มีสปอตไลต์ให้แสดงวิสัยทัศน์ และนโยบายที่มี ที่อยากนำเสนอ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีแคนดิเดตมากถึง 30 คน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่นโยบายของทุกคนจะถูกผ่านตาประชาชนทั้งหมด แคนดิเดตที่ไม่ดังมากที่สุดของพวกเขาก็คือมีพื้นที่อยู่บนป้ายหาเสียงข้างถนนเท่านั้นเอง เมื่อผู้เล่นได้เจอกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ไม่รู้จัก ก็เป็นจุดที่ทำให้ผู้เล่นเกมนี้ไปค้นหาต่อไปว่า ผู้สมัครที่ตัวเองแมตช์ตรงกันนั้นเป็นใคร มีนโยบายอื่นใดอีกบ้าง”

ปฏิพัทธ์ ขยายความว่า ในทุกการเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญมาก ที่การเลือกจากรูปลักษณ์ภายนอก จะถูกหยิบยกมาอยู่ในใจประชาชนเป็นอย่างแรกๆ เพียงแต่ การพัฒนา Politimate สิ่งสำคัญที่อยากลองพัฒนาออกมาก็คือ เครื่องมือที่ให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.จากนโยบายที่ตรงกับตัวของประชาชนมากขึ้น นอกเหนือจากการตัดสินจากอารมณ์ และความคิด ความเชื่อทางการเมือง

ผลลัพธ์สุดท้ายจากเกม Politimate

สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป ปฏิพัทธ์ กล่าวว่า มีโครงการที่จะพัฒนา Politimate โดยแบ่งเป็น Politimate 1 สำหรับประชันด้านนโยบาย, Politimate 2 เป็นเรื่องจำนวนที่มีจำกัดจะให้ความสำคัญใดก่อน-หลัง และ Politimate 3 เน้นเรื่องสำคัญเชิงคุณภาพ จากการยกปัญหา (Issue) ขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งว่าคุณเห็นด้วยมากที่สุด-ปานกลาง-น้อยที่สุด เรื่องนี้สำคัญกับตัวผู้เล่นหรือไม่ เป็นต้น โดยมีจุดหมายปลายทางเพื่อการตื่นรู้ทางประชาธิปไตย