คำแนะนำวัคซีนไฟเซอร์ “เด็กผู้ชาย” 12-15 ปี ฉีดเข็มเดียวก่อน




ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รองรับวัคซีนโควิด mRNA ของ Pfizer BioNTech เพื่อฉีดแก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเพียงวัคซีนเดียว โดยข้อมูลนี้อ้างอิงในวันที่ 22 กันยายน 2564 จนกว่าจะมีวัคซีนโควิดอื่นๆ ที่รับรองความปลอดภัยเมื่อต้องใช้แก่เด็ก

ประกาศฉบับที่ 3 ที่ออกในวันที่ 22 กันยายน 2564 นี้ มีข้อจำกัดถึงจำนวนเข็มที่จะต้องฉีดให้แก่เด็กๆ โดยพบว่าเด็กผู้ชายและวัยรุ่นชายมีโอกาสเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบ โดยพบว่ามักเกิดภายหลังฉีดเข็ม 2 ตามรายงานของ Vaccine Advarse Event Reporting System (VAERS) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 18 มิถุนายน 2564 พบอัตราการเกิดผลข้างเคียงนี้ในวัยรุ่นชายอายุ 12 – น้อยกว่า 16 ปี เป็นจำนวน 162.2 ต่อจำนวนหนึ่งล้านโดส

คำแนะนำการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่เด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว

อาการนี้เกิดขึ้นในเด็กผู้ชายกลุ่มอายุ 12 – น้อยกว่า 16 ปี มากกว่าเด็กผู้หญิง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงมีคำแนะนำให้ชะลอการฉีดเข็มสองในเด็กผู้ชายวัยนี้ออกไปก่อน

ส่วนเด็กผู้หญิง รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มได้ โดยห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์

เด็กวัยไหนติดโควิดมากที่สุด

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 15 ก.ย. พบเด็ก 12 – 18 เสียชีวิตจากโควิด 31 ราย จากเด็กที่ติดเชื้อรวม 184,225 ราย ในกลุ่มนี้แบ่งออกตามช่วงอายุ เป็นอัตราส่วนได้แก่

  • อายุน้อยกว่า 1 เดือน ร้อยละ 0.5
  • 1 เดือน – 1 ปี ร้อยละ 8.1
  • 1 – 6 ปี ร้อยละ 23.6
  • 6 – 12 ปี ร้อยละ 31.1
  • 12 – 18 ปี ร้อยละ 36.3

นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำให้งดออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ชนิด mRNA และหากในระยะเวลานี้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรไปพบแพทย์

สรุปจากประกาศราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เพื่อให้เด็กได้ไปโรงเรียน

1. การตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง

2. แม้ว่าได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม หากได้ไปโรงเรียน ก็ยังคงต้องรักษามาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

3. ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ควรได้รับวัคซีนครบโดส

4. แนะนำให้เด็กอายุ 12 – น้อยกว่า 16 ปี ควรฉีดวัคซีนโควิด เมื่ออาศัยร่วมกับบ้านที่มีผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในเด็กผู้ชายต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงเพิ่มเติม ก่อนที่จะให้คำแนะนำฉีดเข็มต่อไป

5. ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค

กรณีเด็กมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่ออาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ก็ควรเข้ารับคำแนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนรับวัคซีนโควิด ส่วนกรณีวัคซีน Sinopharm และ Sinovac ที่ฉีดให้แก่เด็กในช่วงนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อมูลเรื่องการกระตุ้นภูมิและประสิทธิภาพ และความปลอดภัย แต่ยังไม่ได้รับการรับรอง

ที่มา : www.thaipediatrics.org