คาดเข็มขัดนิรภัย ปลอดภัยจริงหรือ เห็นด้วยไหม? นั่งหลังไม่คาดเข็มขัด ปรับ 2,000 บาท




ข่าวราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่ ‘เบาะหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย’ โทษปรับสูงสุด 2,000 บาท เริ่มบังคับใช้ 4 กันยายน 2565 เราจะไม่ขอเถียงว่ากฎหมายข้อนี้เหมาะสมหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่เราขอลงลึกถึงประโยชน์ของเข็มขัดนิรภัยว่ามันสำคัญอย่างไร ไหนๆ เราก็ต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว มารับรู้ประโยชน์ของมันเพื่อจะได้รู้สึกดีเวลาที่ต้องนั่งในรถแล้วมีเข็มขัดนิรภัยรั้งอยู่

เข็มขัดนิรภัยหรือ Seat belt คาดไว้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่เราขอเทียบด้วยสถิติจากเว็บไซต์ Ganassin.com พบว่า เมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัยช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ 50% และลดโอกาสเสียชีวิต 45% ของผู้โดยสารและคนขับ

ลองจินตนาการเมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ เจอแรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 60 กม./ชม. รุนแรงพอๆ กับการตกจากที่สูง 14 เมตร และหากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ผู้อยู่ในรถ ศีรษะ ใบหน้าและลำตัวจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัย กระจกหน้ารถ หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถได้ ดังนั้นหากมีเข็มขัดนิรภัยรั้งตัวให้อยู่กับที่ ก็จะช่วยลดอาการบาดเจ็บรุนแรงของอวัยวะภายในได้สูงทีเดียว

คาดเข็มขัดอย่างไรให้ปลอดภัย

คาด Seat Belt เพื่อให้ตำรวจไม่เรียกปรับ แต่ไม่ปลอดภัยหากเจออุบัติเหตุแบบนี้ก็ไม่สมควรครับ มาดูท่าที่เหมาะสมกับการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้อง ควรเป็นดังนี้ สายไม่บิดผิดรูปคาดผ่านแนวบ่า ร่องไหล่พอดี แนวเข็มขัดผ่านระหว่างช่องอก ซึ่งเราสามารถปรับระดับเข็มขัดนิรภัยให้สูงต่ำตามความสูงของเราได้นะครับ ที่บริเวณขั้วด้านข้างซ้ายของผู้นั่งและด้านขวาของผู้ขับ

สำหรับสตรีมีครรภ์ ต้องคาดโดยไม่ทับบริเวณหน้าท้อง ใช้หมอนหรือผ้ารองหน้าท้องส่วนล่าง ลดแรงกดของเข็มขัดกับครรภ์ ปรับท่านั่งให้ห่างจากพวงมาลัย 10 นิ้ว จึงจะเป็นระยะที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก

คาร์ซีต

เข็มขัดนิรภัยเหมาะสำหรับผู้นั่งที่มีความสูงเกิน 135 เซนติเมตร แต่สำหรับเด็กน้อยที่มีความสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตรหรืออายุน้อยกว่า 12 ปีควรใช้คาร์ซีต (Car Seat) เพื่อความปลอดภัยในการนั่งรถยนต์ ซึ่งเราจะแบ่งคาร์ซีตออกเป็น 3 ประเภท

1. Rearward Facing Seats (แบบหันหน้าเข้าเบาะ) เหมาะกับเด็กอายุแรกเกิดขึ้นถึง 2 ขวบ

2. Forward Facing Seats (แบบหันหน้าออกจากเบาะ) เหมาะกับเด็กช่วงอายุ 2-7 ปี เป็นเบาะที่มีสายรัดจำกัดการเคลื่อนที่และยึดตัวให้นั่งอยู่กับที่นั่งด้วย

3. Booster Seats เหมาะกับเด็กโตแต่ยังไม่สามารถนั่งรถยนต์แล้วคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้ คล้ายเบาะที่ยกสูงขึ้นมาและคาดเข็มขัดนิรภัยพาดไหล่ และหน้าอกไม่ติดช่วงคอ

สุดท้ายนี้ควรวางคาร์ซีตส่วนไหนของรถจะปลอดภัยที่สุด คำตอบคือตรงกลางเบาะหลังเพราะจะได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุน้อยที่สุด

ผู้เขียน : เครื่องยนต์คนขยัน